วันที่ 1 มีนาคม 2564 เวลา 13.00 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนเป็นประธานพิธีเปิดการฝึกอบรมทักษะการทอผ้าและส่งมอบกี่ทอผ้า พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ โดยมีนายกัฬชัย เทพวรชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดตราด นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เข้าร่วมเป็นเกียรติในการฝึกอบรมและมอบกี่ทอผ้า โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ ฝึกทักษะการทอผ้าให้แก่ผู้สนใจ และจัดตั้งกลุ่มอาชีพการทอผ้าในพื้นที่ สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่อำเภอแหลมงอบ จำนวน 2 กลุ่ม จำนวน 25 คน ซึ่งได้มอบกี่ทอผ้าให้แก่ กลุ่มทอผ้าโรงเรียนบ้านธรรมชาติล่าง จำนวน 10 หลัง และกลุ่มทอผ้าโรงเรียนวัดบางปิดล่าง จำนวน 15 หลัง รวมจำนวน 25 หลัง โดยมีนายณกรณ์ ตั้งหลัก วิทยากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านผ้าไทยจากจังหวัดมหาสารคาม มาให้ความรู้ และฝึกปฏิบัติการทอผ้า ระหว่างวันที่ 1-30 มีนาคม 2564 รวม 30 วัน ณ โรงเรียนบ้านธรรมชาติล่างตำบลคลองใหญ่ อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวขอบคุณ ดร.วันดี กุญชรยาคงจุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ ภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อนการอนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ที่เป็นภาคีเครือข่ายของกรมการพัฒนาชุมชนมาอย่างดี และนายกัฬชัย เทพวรชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดตราด รวมถึงนายสุรศักดิ์อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางสาวเบญจมาส วงษ์สุวรรณ ผู้ตรวจราชการกรม และนายมนตรี ฮมแสน พัฒนาการจังหวัดตราด รวมถึงผู้ประกอบการOTOP จำนวน 24 ราย ที่มอบกี่ทอผ้า ถือว่าเป็นวันประวัติศาสตร์ผ้าไทยในประเทศไทยที่มีการทอผ้าทั้ง 77 จังหวัด โดยจังหวัดตราด เป็นประเทศที่ 77 ในการทอผ้า จะเห็นได้ว่า การทอผ้ามีมาตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ จนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะการทอผ้าไหมที่มีชื่อเสียงมายาวนานคือ กลุ่มบ้านครัว สะพานหัวช้าง เป็นกลุ่มทอผ้าที่มีอายุมากกว่า200 ปี มาจนถึงทุกวันนี้ ในสมัยอดีตจังหวัดตราดได้มีการทอผ้า แต่ได้ห่างหายไปเรื่อยๆ ทำให้เราต้องมากระตุ้น ฟื้นฟู ศิลปวัฒนธรรมการทอผ้าของคนจังหวัดตราด ขึ้นมา เพื่ออนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทยไว้ ตามที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มีพระราชดำรัสแก่ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้ทราบในประเทศไทยมีการทอเกือบทุกจังหวัด ยกเว้น 3 จังหวัดที่ไม่มีผ้าเป็นของตัวเอง คือ สมุทรสาคร สมุทรปราการ และตราด แต่ในช่วง 2 ปี โดยสมุทรสาครมีรูปแบบผ้าปักลายปลาทู เช่นเดียวกับสมุทรปราการก็มีการทอผ้าแล้ว เป็นความโชคดีของจังหวัดตราด ที่ทำให้เกิดความตื่นตัวอยากทอผ้า ในการรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นของบรรพบุรุษ เพื่อสนองพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่พระองค์ทรงรื้อฟื้นผ้าทั่วประเทศเป็นการสนองงาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงอยากเห็นคนไทยคงรักษาภูมิปัญญาผ้าไทย และที่ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ทรงมีพระราชปณิธาน ในวันสตรีไทย 1 สิงหาคม 2562 จะสนองพระเดชพระคุณ พระมหากรุณาธิคุณในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานแห่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เหมือนดั่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งพระราชปณิธานที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด และแผ่ขยายพระบารมีแห่งสมเด็จพระบรมชนกนาถ และสมเด็จพระบรมราชชนนี ดำรงรักษาผ้าถิ่นไทยไว้ รวมถึงสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระองค์ทรงทุ่มเทพระวรกาย ในการที่จะสืบสาน แนวพระราชปณิธานของสมเด็จพระพันปี ทรงศึกษาเรื่องผ้า คิดค้น รวมทั้งพระราชทานลายผ้า “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ผ่านกรมการพัฒนาชุมชน สู่พี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน เป็นความภาคภูมิใจเป็นอย่างมากจึงอยากเชิญชวนให้ทุกท่านเห็นความสำคัญ และสนใจเข้าร่วมศึกษา อยากเห็นผ้าไทยคู่กับคนไทย ด้วยฝีมือของคนไทยทุกจังหวัด ทั้งนี้ ได้เชิญ อาจารย์ณกรณ์ ตั้งหลัก ผู้เชี่ยวชาญด้านการทอผ้า ที่อนุรักษ์ สืบสานผ้าถิ่นไทยที่มีฝีมือการทอผ้า และความรู้ทอผ้าทั่วประเทศ จนกระทั่งสมเด็จราชชินีพระราชทานแต่งตั้ง เป็นขุนพลของผ้าไทยของพระองค์ แสดงให้เห็นถึงความสามารถและฝีมือแก่วิทยากรที่มามอบองค์ความรู้แก่สมาชิก ขอให้ทุกคนตั้งใจและรับเอาความรู้จากวิทยากรมาอย่างเต็มที่ เพื่อพัฒนาการทอผ้าของเราให้คงยั่งยืนต่อไป
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีผู้ที่จะร่วมเป็นประวัติศาสตร์ของจังหวัดตราดในการที่จะสืบสานอนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทยให้ดำรงไว้ในแผ่นดินประเทศไทยของเรามีความโชคดีมากๆ ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชินีพันปีหลวง เสด็จไปทุกหนแห่งของประเทศไทย มากกว่า 540,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขอให้พระองค์ท่านดูแลในเรื่องของอาชีพสตรีในการพลิกฟื้นผ้าไทยซึ่งเป็นเอกลักษณ์วัฒนธรรมของประเทศชาติ ได้พลิกฟื้นให้การทอผ้าไทยเป็นอาชีพเสริมของพี่น้องสตรีที่ว่างเว้นจากการทำนา จากการลงพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้มีโอกาสรับฟังเรื่องราวของของสมเด็จพระพันปีหลวง ที่ทรงเล่าเรื่องในหลายๆหมู่บ้าน เช่น จังหวัดนครพนมได้มีการส่งข้าหลวง ให้มาช่วยชาวบ้านในการทอผ้า เพื่อสวมใส่เองและจำหน่าย จนกระทั่งทำให้ชีวิตของสตรี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ ในช่วงแรกตั้งแต่ปี 2558 ได้จัดทำโครงการตามรอยผ้าไทยลมหายใจแม่ของสตรี หวังส่งเสริมการทอผ้าไหมให้อยู่คู่แผ่นดินไทย และนับเป็นความโชคดีของพวกเราที่ได้เกิดมาทดแทนพระมหากรุณาธิคุณของพระพันปีหลวง ซึ่งได้ทรงพระราชทานชีวิตให้กับผ้าไทยและผ้าไทยทุกผืนที่พี่น้องกำลังจะสร้างประวัติศาสตร์ของจังหวัดตราด ดังเช่นการส่งเสริมการทอผ้าทั้ง 4 ภาค ส่งเสริมอาชีพสร้างรายได้ และความมั่นคงในชีวิตด้วยผ้าไทย ดั่งที่พระมหากรุณาธิคุณเปรียบเสมือนดั่งสายฝนที่ทุกครัวเรือนได้รับโดยถ้วนหน้า ต่อมาได้มีการทำโครงการสืบสานอนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน โดยมุ่งเน้นพี่น้องสตรีและสุภาพบุรุษที่มีศักยภาพในการทอผ้า โดยเน้นการเล่าเรื่องราวชีวิตของคนส่วนใหญ่ที่อยู่ในผืนผ้า เป็นเรื่องที่สืบสานมาจากบรรพบุรุษ และเอามาเผยแพร่ รณรงค์ให้พวกเราร่วมกันสวมใส่ผ้าไทยเราจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจฐานราก ในช่วงหลังจากวิกฤตโควิด-19 โดยการอนุรักษ์ผ้าไทยเป็นสิ่งที่น่ายินดีอย่างยิ่ง สมเด็จพระพันปีหลวงพระราชทานหน้าที่ของสตรีไว้ 4ประการ1) เป็นแม่บ้านที่ดีของบ้าน 2) เป็นแม่ที่ดีของลูก 3) สืบสานเอกลักษณ์วัฒนธรรมพื้นถิ่นการทอผ้า 4) การพัฒนาตัวเองในด้านการทอผ้า จากผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญสามารถ ผลิตผ้าที่เป็นเอกลักษณ์วัฒนธรรมของจังหวัดตราด สร้างความภาคภูมิใจให้ลูกหลานต่อไป และสุดท้ายนี้กรมการพัฒนาชุมชนกับองค์กรสตรีในพระบรมราชูปถัมภ์มีความมุ่งมั่นโน้มน้าวผลักดันให้คนในประเทศทั้ง 35 ล้านคน มาร่วมกันใส่ผ้าไทยเพียงซื้อผ้าเพิ่มคนละ 1 เมตร เม็ดเงินกว่าแสนล้านบาท คืนสู่ชุมชนทั่วประเทศ ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกๆ ท่านที่ได้มุ่งมั่นทำภารกิจนี้ อย่างเต็มความสามารถ เป็นพันธกิจความมุ่งมั่นที่เราจะมีสัจจะร่วมกัน ที่จะเนรมิตผืนผ้าไทย ให้เป็นภาพสวยงามของจังหวัดตราด และสามารถสวมใส่ได้อย่างภาคภูมิใจในการสืบสานอนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ให้ดำรงคงอยู่ต่อไป
นายสุทธิพงษ์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในโอกาสนี้ขอขอบคุณกลุ่มทอผ้าโรงเรียนบ้านธรรมชาติล่างและกลุ่มทอผ้าโรงเรียนวัดบางปิดล่าง ที่ช่วยกันรวมกลุ่ม รวมถึงพี่น้องกลุ่ม OTOP ที่ช่วยบริจาคกี่ทอผ้าแก่กลุ่ม ช่วยกันดูแล สร้างสิ่งดีๆ ถักทอบนพื้นผ้าต่อไป แสดงให้เห็นนิมิตรหมายที่ดี ของการรวมกลุ่มเพื่อสนองแนวพระราชดำริ ในการสืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน ในการส่งเสริมการประกอบอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ เช่นเดียวกับทางสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ เมื่อ 3 ปีที่แล้ว รณรงค์ส่งเสริมให้คนไทยสวมใส่ผ้าไทย ตามรอยแม่ของแผ่นดิน พระพันปีหลวง ตามพระองค์ท่านพระราชดำเนินส่งเสริมผ้าไทยในพื้นที่ต่างๆ เช่น นครพนม แม่ฮ่องสอน ขอนแก่น ปัตตานี ภูเก็ต และอีกหลายพื้นที่ เพื่อให้กำลังใจแก่กลุ่มทอผ้า อย่างต่อเนื่อง จนถึงวันที่ 6 มิถุนายน 2563 และได้มีมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในวันที่ 9 มิถุนายน 2563 ให้ถือว่ามาตรการส่งเสริมสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย เป็นนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมให้ข้าราชการ ประชาชนแต่งกายด้วยผ้าไทย ตามความเหมาะสมของท้องถิ่นเพิ่มขึ้น หรืออย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 วัน อีกทั้งยังให้ทุกกระทรวงรณรงค์การใช้และสวมใส่ผ้าไทยและผ้าพื้นเมือง เพื่อสร้างค่านิยม รักษามรดก อัตลักษณ์ภูมิปัญญาของไทย และอนุรักษ์ต่อยอดภูมิปัญญาพัฒนาผ้าไทย เพื่อเป็นสินค้าเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ และเป็นการส่งเสริมเผยแพร่เรื่องราวของผ้าให้ลูกหลานและสังคมได้รับรู้ ผ่านการจัดนิทรรศการ และส่งเสริมการรวมมกลุ่มการทอผ้าให้มากขึ้น ผ้าไทยจึงเป็นเรื่องที่สำคัญต่อการรักษาอัตลักษณ์ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไว้ไม่ให้สูญหาย แสดงให้เห็นถึงความกตัญญู มีหลักชัยที่สำคัญที่พระองค์ท่าน ส่งเสริม สนับสนุน การทอผ้า ที่ทำให้ 77 จังหวัด มีการทอผ้าครบทุกจังหวัด
ในการนี้ นายสุทธิพงษ์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน มอบพืชผักสวนครัว ประกอบด้วยกะเพรา แตงกวา ผักบุ้ง คะน้า พริก จำนวน 500 ซอง แก่ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 6 ตำบลคลองใหญ่ และ ได้มอบต้นกล้าผักสวนครัว แก่นายสุชาติ จิตมุ่งมโนธรรม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางปิด มอบเมล็ดพันธุ์ผักตราศรแดง จาก บริษัท อีสท์ เวสท์ซีด จำกัด อีกจำนวน 500 ซอง แก่ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 8 ตำบลบางปิด และมอบหนังสือสำหรับเด็กสำหรับห้องสมุดโรงเรียน จากร้านซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์ กรุงเทพ ผ่านกรมการพัฒนาชุมชน จำนวน 100 เล่ม ให้แก่นางศิริรัตน์ โพธิ์ทอง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดบางปิดล่างอีกด้วย ดังนั้นถือได้ว่าเป็นโอกาสที่ดี ในการฝึกอบรมทักษะการทอผ้า ตามโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการทอผ้าจังหวัดตราด เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการทอผ้าสร้างมูลค่าการทอผ้า รักษา อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ผสมผสานความทันสมัยให้มีความน่าสนใจ ใส่ได้ทุกเพศ ทุกวัย เพื่อมุ่งยกระดับผ้าไทยให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน เกิดการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้เกิดขึ้นในชุมชน และเน้นย้ำ ให้ทุกคนต้องอดทน จริงจังต่อการทอผ้า ฝึกฝนเอาความรู้ไปใช้ในการปฏิบัติ ระหว่างการดำเนินโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการทอผ้าจังหวัดตราด ทั้ง 30 วันนี้ ขอเป็นกำลังใจ และขอบคุณสมาชิกกลุ่มทอผ้าทุกท่าน ที่ช่วยกันสานฝันคนไทยให้เป็นจริง ได้สวมใส่ผ้าไทยที่เป็นฝีมือบ้านเดียวกัน และฝากท่านผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด กรุณาให้ความเมตตาเป็นกำลังใจแก่สมาชิกกลุ่มทอผ้าทั้ง 2 กลุ่ม เพื่อเป็นการรักษาความกตัญญูต่อการอนุรักษ์ผ้าไทยของบรรพบุรุษให้คงอยู่คู่แผ่นดิน ตลอดจนกระจายรายได้สู่ชุมชนฐานราก ช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน สร้างความมั่นคงด้านเครื่องนุ่งห่มแก่ประเทศชาติ และหวังว่าในอนาคตจังหวัดตราด จะสามารถผลิตผ้าทอ ที่ทรงคุณค่า มีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์งดงามแก่สายตาชาวไทย และขอขอบคุณกลุ่มผู้ประกอบการOTOP 24 ราย ที่ได้บริจาคกี่ทอผ้า จำนวน 25 หลัง แก่กลุ่มสมาชิกทั้ง 2 กลุ่ม และขอขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดตราด และรองผู้ว่าราชการจังหวัดตราด ที่ช่วยดูแลมีความอนุเคราะห์ให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์ผ้าถิ่นไทยและทำให้การดำเนินโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการทอผ้าจังหวัดตราดลุล่วงไปด้วยดี และสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างมากคือการจะนำความสุขไปสู่พี่น้องคนไทยต่อไปในอนาคต อธิบดี พช. กล่าว