วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 10.00 – 12.00 น. ณ ศูนย์เรียนรู้ทุนชุมชน (ศูนย์สารภีท่าช้าง) ตำบลท่าช้าง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี
นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้นายคมกริช ชินชนะพัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี ลงพื้นที่ติดตาม สนับสนุนการฝึกอบรมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นาโมเดล” กิจกรรมที่ 1 ฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียงรูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล” รุ่นที่ 14 พร้อมพบปะและบรรยายต่อผู้เข้าฝึกอบรมในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ” โดยมีวัตถุประสงค์ ประกอบด้วย 1)เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมมีทักษะในการดำรงชีวิตแบบพึ่งพาตนเอง จนสามารถปฏิบัติได้และมีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและนำไปสู่การใช้ชีวิตแบบพอเพียง 2)เพื่อกำหนดแนวทาง/เป้าหมายในการขับเคลื่อนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ของตนเอง 3)เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมตระหนักถึงคามสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ที่ทรงงานหนักเพื่อประชาชนและประเทศไทย 4)เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมสามารถนำเสนอแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของตัวเองได้
โอกาสนี้ พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี ได้บรรยายเนื้อหาสาระสำคัญ ได้แก่ 1)การกำหนดเป้าหมายของชีวิตบนวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง 2)ออกแบบพื้นที่ชีวิตการดำรงอยู่บนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเอง 3)วิเคราะห์บริบทพื้นที่ รู้เรา รู้เขา รู้สถานการณ์ รู้ดินฟ้า 4)กำหนดยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติสถานที่จริง นอกจากนั้น ยังได้มอบแนวทางในการดำเนินงานแก่นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ(นพต.) ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยในการพัฒนาและขับเคลื่อนโครงการฯ ร่วมกับครัวเรือนเป้าหมาย นอกจากนั้น ยังได้กล่าวพบปะผู้เข้ารับการฝึกอบรมฯ ว่า “หัวใจสำคัญของโครงการนี้คือการ แก้เเล้งเก็บฝน เก็บน้ำในฤดูฝนไว้ใช้ในหน้าแล้ง มีพื้นที่ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ เกิดการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งจะมีผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ในจังหวัดของเรา คือ เกิดครัวเรือนต้นแบบ 3,960 ครัวเรือน เกิดแกนนำพัฒนา 4,858 คน เกิดการจ้างงาน 898 คน มีพื้นที่การทำ “โคก หนอง นา โมเดล” 9,329 ไร่ มีพื้นที่กักเก็บน้ำเพิ่มขึ้นอีก 190 ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วยลดปัญหาภัยแล้ง ถือเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้รายเดือนให้แก่เกษตรกร บัณฑิตจบใหม่ และกลุ่มแรงงานที่อพยพกลับสู่บ้านเกิด จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 898 อัตรา สุดท้ายนี้ขอฝากไว้ว่าเมื่ออบรมเสร็จขอให้ทุกท่านนำเอาความรู้ที่ได้ นำไปพัฒนาพื้นที่ดำเนินการตามโครงการฯ ให้เป็นศูนย์เรียนรู้การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เเละเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้ ไม่ปิดกั้นเป็นพื้นที่ส่วนตัว และที่สำคัญคือการทํา “โคก หนอง นา โมเดล” ถือเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับครัวเรือนเป้าหมายเเละประเทศชาติในสภาวะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ด้วย” พัฒนาการจังหวัดฯ กล่าวด้วยความภาคภูมิใจ
จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับการอนุมัติงบประมาณดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” กิจกรรมที่ 1 ฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียงรูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงประยุกต์สู่การปฏิบัติในรูปแบบโคก หนอง นาโมเดล ให้สามารถเป็นแกนนำขับเคลื่อนการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่การปฏิบัติในรูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล ดำเนินการ 48 รุ่นๆ ละ 5 วัน กลุ่มเป้าหมายเข้ารับการอบรม 4,790 คน ประกอบด้วยครัวเรือนพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตครัวเรือนละ 1 คน และนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ จำนวน 898 คน ระยะเวลาดำเนินการะหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 4 มิถุนายนพ.ศ. 2564 จุดดำเนินการ 5 แห่ง ดังนี้ 1)ศูนย์พุทธธรรมพรหมวชิรญาณ ป่าดงใหญ่วังอ้อ ตำบลหัวดอน อำเภอเขื่องใน จำนวน 16 รุ่น 2)วัดป่าศรีแสงธรรม ตำบลห้วยยางอำเภอโขงเจียม จำนวน 11 รุ่น 3)ศูนย์ฝึกอบรมวัดภูอานนท์ ตำบลนาโพธิ์กลาง อำเภอโขงเจียม จำนวน 11 รุ่น 4)ศูนย์เรียนรู้ทุนชุมชนสารภีท่าช้าง ตำบลท่าช้าง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จำนวน 5 รุ่น และ 5)ชุมชนต้นแบบหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงบ้านดอนหมูตำบลขามเปี้ย อำเภอตระการพืชผล จำนวน 5 รุ่น ซึ่งการฝึกอบรมฯ รุ่นที่ 12-16 ดำเนินการพร้อมกันทั้ง 5 จุด ระหว่างวันที่ 22-26 กุมภาพันธ์ 2564
สำหรับการฝึกอบรมตามโครงการฯ รุ่นที่ 14 ระหว่างวันที่ 22-26 กุมภาพันธ์ 2564 ณศูนย์เรียนรู้ทุนชุมชน (ศูนย์สารภีท่าช้าง) แห่งนี้ มีกลุ่มเป้าหมายเข้ารับการฝึกอบรมฯจากอำเภอน้ำขุ่น 73 คน และอำเภอน้ำยืน 27 คน รวมจำนวนทั้งสิ้น 100 คน และได้รับการสนับสนุนวิทยากรที่ผ่านการอบรมจากศูนย์กสิกรรมธรรมชาติและทีม SAVEUBON ร่วมกับวิทยากรจากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดและสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอทั้งนี้ ได้ดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวังโรคไวรัส COVID-19 อย่างเคร่งครัด
อุบลราชธานี เมืองดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี : งานประชาสัมพันธ์สพจ.อุบลราชธานี…ภาพข่าว/รายงาน