สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ ๑๐ (ราชบุรี) จัดงาน “วันรณรงค์ให้ปลอดควันพิษจากไฟป่า 24 กุมภาพันธ์” ประกอบด้วย สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ ๑๐ (ราชบุรี) กรมป่าไม้ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดราชบุรี และองค์การบริหารส่วนตำบลยางหัก ได้รับเกียรติจาก นายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมด้วย นายสุธี เล้าสุบินประเสริฐ นายอำเภอปากท่อ ราชบุรี กล่าวต้อนรับ และนายนิทรรศ เวชวินิจ ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ ๑๐ (ราชบุรี) กล่าวรายงานวัตถุประสงค์
นายนิทรรศ เวชวินิจ ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ ๑๐ (ราชบุรี) กล่าวรายงานว่า ตามคณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2543 เห็นชอบและอนุมัติให้วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็น “วันรณรงค์ให้ปลอดควันพิษจากไฟป่า” ดังนั้นจึงถือได้ว่า วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นวันก่อกำเนิดการควบคุมไฟป่าในประเทศไทย ปัจจุบันระดับของการเกิดไฟป่ามีความรุนแรงมากจนกลายเป็นปัจจัยที่รบกวนสมดุลของระบบนิเวศอย่างรุนแรง ส่งผลกระทบต่อสังคมพืช สัตว์ และสิ่งมีชีวิตต่างๆ ตลอดจนชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมไปถึงเศรษฐกิจสังคม และการท่องเที่ยวในทุกพื้นที่ของประเทศไทย นอกจากนี้ไฟป่ายังก่อให้เกิดวิกฤติปัญหามลพิษหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ที่ลอยตัวอยู่ในอากาศ จนกลายเป็นปัญหาใหญ่ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยและชีวิตของประชาชนเป็นวงกว้าง จากปัญหาดังกล่าวจึงได้ร่วมกัน จัดงาน “วันรณรงค์ให้ปลอดควันพิษจากไฟป่า 24 กุมภาพันธ์” ขึ้น เพื่อให้เกิดการรณรงค์และส่งเสริมการมีส่วนร่วม ของทุกภาคส่วนที่จะแก้ไขปัญหาไฟป่า โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้
1. เพื่อรณรงค์ให้ประชาชน และเกษตรกร งดการจุดไฟเผาป่า เพื่อลดควันไฟที่เกิดจากการเผาป่า
2. สร้างความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักให้แก่ประชาชน นักเรียน นักศึกษา หน่วยราชการ องค์กรเอกชน ถึงอันตรายและผลกระทบของควันที่เกิดจากไฟป่า
3. เพื่อป้องกันและอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ จากการจุดไฟเผาป่า
การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เป็นกิจกรรมการบรรยายให้ความรู้เรื่องไฟป่า การใช้เครื่องมือดับไฟป่า กิจกรรมการจัดการเชื้อเพลิงโดยการจัดทำแนวกันไฟ และสาธิตการควบคุมไฟป่า และการประชาสัมพันธ์ถึงผลกระทบและอันตรายจากไฟป่าในรูปแบบสปอตผ่านทางรถประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่หมู่บ้านเครือข่ายความร่วมมือในการควบคุมไฟป่าโดยมีผู้ร่วมกิจกรรม ประมาณ 300 คน ประกอบด้วย ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ นักเรียน นักศึกษา หมู่บ้านเครือข่ายความร่วมมือในการควบคุมไฟป่า และประชาชนในพื้นที่อำเภอปากท่อและพื้นที่ใกล้เคียง