19 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 16.30 น. นายทวีป บุตรโพธิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญเป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมการน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สร้างความมั่นคงทางอาหาร สู่ปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร รอบ 2 ณบริเวณจวนผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ โดยมีนางทรงลักษณ์ วรภัย ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน นางรัชชุมา บุตรโพธิ์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดอำนาจเจริญ หัวหน้าส่วนราชการ สมาชิกชมรมแม่บ้านมหาดไทย พัฒนาการอำเภอเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน และนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบฯ จากอำเภอเมืองอำนาจเจริญ เข้าร่วมกิจกรรม
นางสาววริศรา โสภาค พัฒนาการจังหวัดอำนาจเจริญ เปิดเผยว่า การดำเนินงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแบบอย่างในการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการดำรงชีวิต สร้างแหล่งอาหารปลอดภัย ทำให้เกิดความสามัคคี สามารถเพิ่มรายได้ และลดรายจ่ายในสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (COVID-19) ซึ่งมีกิจกรรมสำคัญ ได้แก่ การมอบเมล็ดพันธุ์ผักแก่หัวหน้าส่วนราชการ สมาชิกชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดอำนาจเจริญ และพัฒนาการอำเภอ เพื่อสร้างวัฒนธรรมการปลูกผักอย่างต่อเนื่อง การปลูกผักสวนครัว อาทิ ข่า ตะไคร้ ต้นหอม ผักบุ้ง คะน้า แมงลัก ผักชีฝรั่ง ผักชี พริก สะระแหน่ กวางตุ้ง เป็นต้น และการประกอบอาหารเมนู “ปลานิลผัดคึ่นฉ่าย” ซึ่งใช้ผักจากการปลูกผักสวนครัวฯ เฟส 1 โดยผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญและประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดอำนาจเจริญ
สำหรับการน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สร้างความมั่นคงทางอาหาร สู่ปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร รอบ 2 มีหลักการดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้
ขั้นที่ 1 “ผู้นำต้นแบบ ตัวอย่างที่เห็นจริง” ให้มีการเชิญชวนผู้บริหารจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการทุกหน่วย นายอำเภอทุกอำเภอ กลุ่ม องค์กร ภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐเอกชน และเจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาชุมชนทุกคนปลูกผักสวนครัวอย่างน้อย คนละ 10 ชนิด เป็นตัวอย่างแก่ประชาชนพร้อมสื่อสารสร้างการรับรู้ผ่านช่องทาง Social Media เป็นประจำทุกเดือน
ขั้นที่ 2 “ผู้นำต้องทำก่อน “รณรงค์เชิญชวน ให้ผู้นำชุมชน ผู้นำท้องที่/ท้องถิ่น กลุ่มองค์กร เครือข่าย และนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) สร้างกระแสการปลูกผักสวนครัวอย่างต่อเนื่อง ในหลากหลายพื้นที่ เพื่อเป็นตัวอย่างแก่ประชาชน
ขั้นที่ 3 “นักพัฒนา 3 ประสานกลไก ขับเคลื่อนปฏิบัติการ 90 วัน” ดำเนินงานร่วมกับอปท. สร้างทีมนักพัฒนา 3 ประสาน ในระดับตำบล เพื่อขับเคลื่อนการปลูกผักสวนครัวอย่างต่อเนื่อง
ขั้นที่ 4 “ทุกครัวเรือน คือ คลังอาหาร ทุกหมู่บ้าน คือ ศูนย์แบ่งปัน” ร่วมรณรงค์ให้ทุกครัวเรือน ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร รณรงค์คัดแยกขยะ ทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน ทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพจากเศษอาหารเพื่อปรับปรุงดินและเพิ่มผลผลิต อีกทั้งรณรงค์ให้ทุกหมู่บ้านสร้างคลังอาหารชุมชน โดยใช้พื้นที่สาธารณะประโยชน์ เมื่อได้ผลผลิตก็นำมาแลกเปลี่ยนแบ่งปันโดยเฉพาะผู้ยากไร้ และจัดตั้ง ศูนย์แบ่งปันเมล็ดพันธุ์และต้นกล้า
ขั้นที่ 5 “ทักษะชีวิตวิถีใหม่ เยาวชนไทยสร้างอาหารเป็น” ส่งเสริมให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สถานศึกษา ศาสนสถาน เป็นแหล่งเรียนรู้ในการปลูกผัก
ขั้นที่6 “ถอดรหัสการพัฒนา ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง ในการสร้างความมั่นคงทางอาหารยั่งยืน” ร่วมประเมินผลการความสำเร็จของโครงการ พร้อมถอดบทเรียนการขับเคลื่อนกิจกรรม (1 อปท. 1 อำเภอต้นแบบ)
สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอำนาจเจริญ