ศพช.ลำปาง มุ่งมั่น เสริมสร้าง สู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) เพื่อขจัดความหิวโหย (Zero Hunger) สร้างความมั่นคงทางอาหาร ส่งเสริมกสิกรรมธรรมชาติผ่านการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปีงบประมาณ2564
นางอภิญญา โกมลรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาลำปาง เปิดเผยว่าตามที่กรมการพัฒนาชุมชน มีนโยบายในการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อส่งเสริมการใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางในการพัฒนาหมู่บ้าน ให้มีระบบการบริหารจัดการชุมชนแบบบูรณาการที่เข้มแข็ง และพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้มั่นคง ด้วยการน้อมนำพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชดำริของพระบรมชนกนาถในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนองนา โมเดล ไปสู่การปฏิบัติของพี่น้องประชาชน เพื่อการพัฒนาที่สมดุลเป็นธรรมและมีภูมิคุ้มกัน กับผลกระทบการเปลี่ยนแปลงทั้งจากภายในชุมชน ประเทศและภายนอกจากสังคมโลก ที่จะส่งผลต่อครอบครัว การเตรียมความพร้อมแต่ละครัวเรือนให้ได้รับการพัฒนาอย่างบูรณาการตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงและศาสตร์พระราชา โดยสอดคล้องกับภูมิสังคมที่แต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันของปัจจัยพื้นฐาน ด้านศักยภาพวิถีชีวิต วัฒนธรรมและอัตลักษณ์ ทั้งนี้ได้มีการคัดเลือกครัวเรือนต้นแบบที่สมัครใจ ในหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงเป้าหมาย หมู่บ้านละ 1 ครัวเรือน ให้เป็นผู้แทนครัวเรือนพัฒนาพื้นที่เรียนรู้ “โคก หนอง นา โมเดล” ไปขับเคลื่อนการพัฒนาในหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงในระดับครัวเรือน ระดับชุมชน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และดำเนินการจัดการพื้นที่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชน “โคก หนอง นา โมเดล” ให้เหมาะสมกับพื้นที่
ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง ได้รับมอบหมายจากกรมการพัฒนาชุมชน ให้เป็นหน่วยดำเนินการฝึกอบรมผู้แทนครัวเรือนพัฒนาพื้นที่เรียนรู้ “โคก หนอง นาโมเดล” ในพื้นที่จังหวัดลำปาง ลำพูน และจังหวัดแพร่ รวมทั้งสิ้น 369 ครัวเรือน ซึ่งหลักสูตรของการฝึกอบรมในระยะเวลา 5 วัน 4 คืน เน้นหนักในการฝึกปฏิบัติเพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมได้รับความรู้และทักษะจากประสบการณ์ตรง โดยมีทีมงานบุคลากรของศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง เป็นวิทยากร หรือเรียกว่า ครูพาทำ นำการลงมือปฏิบัติผ่านกิจกรรม “จิตอาสาพัฒนาชุมชน เอามื้อสามัคคีพัฒนาพื้นที่ ตามหลักทฤษฎีใหม่” โดยผู้เข้าอบรมร่วมกันลงมือปฏิบัติการในการซ่อมแซมปรับแต่งผนังคลองไส้ไก่ , การปลูกแฝกเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำ , การห่มดิน , การเลี้ยงดิน แห้งชามน้ำชาม และการปลูกป่า 5 ระดับ ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการบำรุงรักษาและฟื้นฟูสภาพดินให้อุดมสมบูรณ์พร้อมที่จะเป็นแหล่งในการเพาะปลูกเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร และน้อมนำการขับเคลื่อนศาสตร์พระราชาสู่การปฏิบัติ ดัง ส.ค.ส. พระราชทานในปี 2547 “สามัคคีเป็นพลังค้ำจุนแผ่นดินไทย” ด้วยการร่วมแรง ร่วมใจช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ผ่านกิจกรรมการเอามื้อสามัคคี
ซึ่ง ศพช.ลำปาง มีความเชื่อมั่น ว่าผู้เข้ารับการฝึกอบรมฯ ทุกคน จะนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ในการสร้างพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล ให้เหมาะสมกับสภาพภูมิสังคมของตนเอง และสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างสมดุล ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ได้ต่อไป
นางอภิญญา โกมลรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาลำปาง กล่าวด้วยความมั่นใจ