วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2561 ณ ร้านสะพานโยง สนามจันทร์ นครปฐม สสส.จัดอบรมหลักสูตร “อยู่อย่างมีความหมาย จากไปอย่างมีความสุข” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ให้ผู้ร่วมอบรมสามารถนำความรู้ความเข้าใจไปบอกต่อและแนะนำให้กับผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ต้องจากไป มีวิทยากรเชี่ยวชาญให้ความรู้ดังนี้คือ
– พญ.นุชนารถ โตเหมือน แพทย์ชำนาญการพิเศษ รพ.นครปฐม พูดคุย การเผชิญหน้ากับการตัดสินใจในช่วงวิกฤตของชีวิตคนไข้ พร้อมพูดคุย วิเคราะห์
– ศาสตราจารย์ แสวง บุญเฉลิมวิภาส คณะนิติศาสตร์ และที่ปรึกษาศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บรรยาย กตัญญูหมื่นลี้ สิทธิทางกฏหมาย การจัดการร่างกายและทรัพย์สิน
– นพ.กิติพล นาควิโรจน์ ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล บรรยาย การดูแลระยะท้าย palliative care การรักษาที่ไร้ประโยชน์ ชวนทำ advance care plan
และสุดท้าย ชวนทำ living will โดย นันทวัน ทองสุข และพว.น้ำทิพย์ วิชิรมาลา พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.นครปฐม
การถอดบทเรียน เพื่อให้เข้าใจ เพิ่มเติมดังนี้
การรักษาที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์
เอกภพ สิทธิวรรณะนะ
ใช่ว่าการไปโรงพยาบาล หรือการรักษาจะให้ประโยชน์แก่ผู้ป่วยทุกครั้งไป การดูแลหลายอย่างนอกจากจะไม่ช่วยให้ผู้ป่วยหายหรือดีขึ้นแล้ว ยังก่อความทุกข์ให้ผู้ป่วยหรือครอบครัวทุกข์ทรมานมากขึ้นด้วย
นพ.กิตติพล นาควิโรจน์ ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงข้อคิดเกี่ยวกับการตัดสินใจดูแลผู้ป่วยระยะท้ายที่น่าสนใจบางประการ ในงานอบรม “อยู่อย่างมีความหมาย จากไปอย่างมีความสุข” ณ ร้านสะพานโยง จ.นครปฐม
“การรักษาที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ไม่ได้หมายถึงการรักษาที่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายหรือเรื่องว่าแพทย์อยากสงวนเตียงผู้ป่วยให้คนอื่น การรักษาที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในทางการแพทย์มีความหมาย 2 นัยยะ
คือ 1. การรักษาที่ไม่ตรงกับภาวะโรค เช่น ให้ยาผิดโรค 2. การรักษาที่ไม่ตรงกับความต้องการของผู้ป่วยหรือครอบครัว
การรักษาที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์มีโอกาสเกิดขึ้นมากในผู้ป่วยระยะท้าย เพราะชีวิตในช่วงนี้ มีการรักษาหลายรูปแบบที่ไม่ช่วยให้ผู้ป่วยสุขสบาย หายจากโรค หรือแม้แต่มีอายุยืนยาวขึ้น เช่น การให้บังคับให้อาหารทางสายยางให้ผู้ป่วยระยะสุดท้าย การปั๊มหัวใจในวันท้ายๆ ของผู้ป่วยระยะสุดท้าย การฟอกไตในผู้ป่วยที่อวัยวะส่วนอื่นล้มเหลวไปหมดแล้ว เป็นต้น
ข้อพิจารณาอีกประการหนึ่งในการรักษาที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในตินี้คือคำถามที่ว่า “การดูแลรักษาด้วยวิธีนี้ มีอัตราช่วยให้ผู้ป่วยรอดชีวิตกี่เปอร์เซ็น” หากแพทย์ตอบว่า การรักษาด้วยวิธีนั้นๆ มีอัตรารอดชีวิตน้อยกว่าร้อยละ 1 วิธีการนั้นอาจนับว่าเป็นการรักษาที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์
ส่วนการรักษาที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในมิติหลัง คือ การรักษาที่ไม่ตรงกับความต้องการของผู้ป่วยหรือครอบครัว ตัวอย่างเช่น หากผู้ป่วยและครอบครัวไม่ต้องการปั๊มหัวใจ แต่แพทย์กลับยื้อชีวิต การช่วยชีวิตในมิตินี้ก็นับว่าเป็นการรักษาที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์เช่นกัน
จุดที่ยากในการป้องกันการรักษาที่ไม่ตรงกับเจตนาคือ ผู้ป่วย ครอบครัว และบุคลากรสุขภาพ มักมีกระบวนการการสื่อสารระหว่างกันที่ยังไม่ราบรื่นหรือเข้าใจตรงกันมากพอ เพราะมีอุปสรรคด้านการสื่อสาร เช่น ญาติมักกังวลว่า การบอกความจริงของแพทย์จะทำให้ผู้ป่วยเสียกำลังใจ การพูดคุยวางแผนเรื่องการเตรียมตัวตายจะทำให้เสียบรรยากาศ หรือเป็นการแช่งผู้ป่วย ในขณะที่แพทย์เองก็ไม่กล้าที่จะเป็นฝ่ายสื่อสารเรื่องนี้ก่อน เพราะเป็นประเด็นอ่อนไหว ง่ายต่อความขัดแย้งระหว่างญาติและโรงพยาบาล แพทย์ส่วนหนึ่งยังกังวลว่าผู้ป่วยและญาติจะเข้าใจผิด คิดว่าหมอไม่อยากรักษาคนไข้แล้ว นอกจากนี้ยังมีแพทย์จำนวนมากที่อยากจะคิดหาวิธีรักษาทุกทางเสียก่อนจึงจะคุยกับผู้ป่วยเรื่องการวางแผนระยะสุดท้ายของชีวิต ซึ่งในบางกรณี อาจไม่ทันการณ์
ดังนั้น ทางออกที่เป็นไปได้คือ การวางแผนดูแลสุขภาพช่วงท้ายของชีวิต ผู้ป่วยและครอบครัวอาจต้องเป็นฝ่ายเริ่มชวนคุย สื่อสารว่าตนประสงค์จะวางแผนดูแลสุขภาพเมื่อโรคที่ตนเป็นอยู่รักษาได้ยากหรืออาจรักษาไม่หายแล้ว
Living Will เครื่องมือแสดงเจตนารมย์เสริมพลังผู้ป่วย
เครื่องมือหนึ่งที่ช่วยสื่อสารความต้องการในช่วงท้ายของชีวิต และป้องกันการรักษาที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ คือการเขียน Living Will หรือเอกสารแสดงเจตนาเลือกวิธีการรักษาในช่วงท้ายของชีวิต ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 12 การเขียนเอกสารฉบับนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการคุ้มครองสิทธิ์ที่จะวางแผนดูแลสุขภาพช่วงท้ายของชีวิต สร้างโอกาสที่จะสื่อสารความต้องการของตนเองว่า หากตนใกล้เสียชีวิต ต้องการให้ญาติหรือบุคลากรสุขภาพดูแลอย่างไร ผู้สนใจสามารถศึกษาแบบฟอร์ม ตัวอย่างการเขียนอย่างง่ายได้ในเว็บไซต์ www.thailivingwill.com
ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส แห่งคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ยังเสริมว่า การทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ใช่การเร่งการตาย หากเป็นการแสดงความจำนงว่าตนยอมรับความจริงของชีวิต และประสงค์จะจาไปอย่างสงบตามธรรมชาติ ทั้งนี้ ผู้ป่วยยังคงได้รับการดูแลแบบประคับประคองหรือ Palliative Care จากทีมดูแลสุขภาพในโรงพยาบาลทั่วประเทศ
Palliative Care ระบบการดูแลสุขภาพน้องใหม่ในสังคมไทย
การดูแลแบบประคับประคอง เป็นศาสตร์การดูแลแบบองค์รวม คือ แม้ผู้ป่วยจะรักษาไม่หายแล้ว แต่ยังคงได้รับการดูแลให้สุขสบายกายด้วยการลดอาการรบกวน บรรเทาปวด รวมทั้งได้รับการดูแลทางจิตใจและสังคมทั้งจากบุคลากรสุขภาพ ครอบครัว และชุมชน ให้มีสุขภาวะในทุกมิติ ขึ้นกับว่า ในชีวิตที่เหลือของผู้ป่วยระยะท้าย เขาและเธอให้ความสำคัญกับอะไร เมื่อทราบแล้ว บุคลากรและครอบครัว ก็ควรให้สนับสนุนให้ผู้ป่วยเข้าถึงสิ่งที่ต้องการหรือคุณค่าเหล่านั้น เช่น ได้อยู่กับคนรัก ได้ทำสิ่งที่ใฝ่ฝันปรารถนา ได้ขออภัยหรืออโหสิกรรม ได้กลับบ้าน ได้เข้าถึงประสบการณ์ทางศาสนา หรือแม้แต่ได้อยู่เงียบๆ หรือฟังเพลงที่ชอบ
อย่างไรก็ตาม การดูแลแบบประคับประคองเพิ่งจะเริ่มต้นพัฒนาขึ้นในสังคมไทย ดังเช่นใน รพ.นครปฐมเองก็เพิ่งกำเนิดทีมดูแลแบบประคับประคองอย่างเป็นทางการเพียงสามปีมานี้ ดังนั้นแพทย์และพยาบาลดูแลแบบประคับประคองในระบบบริการสุขภาพยังมีจำกัด และต้องการการสนับสนุนจากภาคประชาชน โดยเฉพาะการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการดูแลคุณภาพชีวิตในช่วงสุดท้ายและการเตรียมตัวสู่การจากไปอย่างสงบ
ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อชุมชน ในฐานะองค์กรภาคประชาชนที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนความรู้ความเข้าใจเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตในช่วงท้าย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หวังว่าการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการร่วมกับภาคประชาสังคมในจังหวัดนครปฐมในครั้งนี้ จะสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อความรู้ความเข้าใจเรื่องการดูแลสุขภาพช่วงท้ายของชีวิตในจังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของวิถีสุขภาวะในจังหวัดแห่งนี้สืบไป
บ.ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม ก่อตั้งขึ้นจากเจตนารมณ์ของคุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ และกัลยาณมิตร ด้วยเชื่อว่า คุณค่าของชีวิตบั้นปลาย คือ การให้ความหมายกับชีวิตที่ดำรงอยู่ และเตรียมตัวให้พร้อมจากไปอย่างสงบสุข ของทั้งผู้ป่วยและทุกคนที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น คุณภาพชีวิตระยะท้าย จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง
จึงมุ่งมั่นในการให้ความรู้ ความเข้าใจ มุมมอง และความช่วยเหลือในการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายแบบประคับประคอง เพื่อให้ทุกคนได้มีความพร้อมในการจากลาที่ดี โดยหวังให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
บ.ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดทำ work shop สำหรับ influencer (opinion leader) บุคคลผู้มีอิทธิพลทางความคิดกับคนจำนวนมาก หรือมีผู้ติดตามผลงานเป็นประจำ influencer (opinion leader) จึงเป็นกุญแจสำคัญต่อการสร้างความตระหนักให้เข้าถึงสังคมในวงกว้างอย่างมีประสิทธิภาพ และส่งผลให้การดูแลคุณภาพชีวิตระยะท้ายได้เกิดขึ้นจริง อย่างเป็นรูปธรรม
บ.ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม
http://www.cheevamitr.com
https://web.facebook.com/Cheevamitr
** Influencer หมายถึง นักสื่อสารที่มีกลุ่มผู้ติดตามประจำเป็นจำนวนมาก เป็นบุคคลที่มีอิทธิพลต่อการผลักดันแนวคิดต่างๆต่อกลุ่มผู้ติดตามอย่างมีประสิทธิภาพ มีช่องทางในการสื่อสารของตัวเอง นักสื่อสารเหล่านี้มิได้หมายถึงแต่ในโลก social media เพียงอย่างเดียวแต่รวมถึงหลายสาขาอาชีพ เช่น คนในวงการบันเทิง วงการนักเขียน ปราญช์ชาวบ้าน วงการข่าว รวมไปถึง ครูอาจารย์ ผู้นำท้องถิ่นทั้งหลายในจังหวัดใหญ่ในแต่ละภาค ทั้งนี้เมื่อ Influencer / opinion leader ผ่านการทำ work shop แล้ว Influencer จะร่วมสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจแก่สังคมวงกว้าง ในเรื่องการสร้างคุณภาพชีวิตระยะท้ายให้ โดยการสื่อสาร ผ่านช่องทางที่ตัวเองถนัด เช่น ผู้ติดตามในเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ บล็อก หรือคลิป
+++ คุณภาพชีวิตระยะท้าย คือ ภาวะความเป็นอยู่ที่มีความพอใจ สุขใจ สุขกาย และมีความสงบ ปลอดภัย มีสิทธิ เสรีภาพ และมีความเข้าใจจากครอบครัวที่พร้อมปรับตัวรับต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นเมื่อมีความไม่สุขกาย สบายใจ จากอาการเจ็บป่วย พร้อมทั้ง ตอบสนองความต้องการและความคาดหวังที่ยังห่วงกังวล เพื่อให้สามารถดูแลตนเองเท่าที่จะสามารถทำ ได้ และจากไป อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ชีวามิตรจึงมุ่งมั่นในการให้ความรู้ ความเข้าใจ มุมมอง และความช่วยเหลือในการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายแบบประคับประคอง เพื่อให้ทุกคนได้มีความพร้อมในการจากลาที่ดี โดยหวังให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม