อธิบดี พช. ลงพื้นที่โคราช รวมพลัง อช. สานต่อศาสตร์พระราชา พัฒนาชุมชนสู่ความยั่งยืน เนื่องในวาระครบรอบ 52 ปี โครงการพัฒนาผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน

วันที่ 29 มกราคม 2564 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธี กิจกรรมรวมพลัง อช. สานต่อศาสตร์พระราชา พัฒนาชุมชนสู่ความยั่งยืนเนื่องในวาระครบรอบ 52 ปี โครงการพัฒนาผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน และเปิดมหกรรมแสดงผลสำเร็จ การสร้างวัฒนธรรมปลูกผักประจำครัวเรือนโครงการของขวัญปีใหม่มท. สร้างสุข (Happy Creation)” โดยมีพระครูภัทรธรรมโฆษิต เจ้าคณะตำบลหลุ่งประดู่ อำเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา นายวิเชียร  จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน คณะผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน นางอรุณรัตน์ ชิงชนะ พัฒนาการจังหวัดนครราชสีมา นายเดชฤทธิ์ถิตย์ฉาย นายอำเภอห้วยแถลง หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดนครราชสีมาพัฒนาการอำเภอทุกอำเภอ เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน ประธานชมรมอาสาพัฒนาชุมชนจังหวัดนครราชสีมา ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน จากทุกอำเภอในจังหวัดนครราชสีมา ผู้นำชุมชน กลุ่ม องค์กร เครือข่ายของอำเภอห้วยแถลง ร่วมกิจกรรมฯ วัดหลุ่งประดู่ตำบลหลุ่งประดู่ อำเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา

ในการนี้ได้จัดให้มีกิจกรรม อ่านสารรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย การมอบเกียรติบัตรแก่ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชนผู้มีผลการปฏิบัติงานดีเด่น ประจำปี 2563 การแสดงพลังผู้นำ อช. ร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี และกล่าวคำปฏิญาณของผู้นำ อช. กิจกรรมมหากรรมแสดงผลสำเร็จน้อมนำแนวทางพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สู่แผนปฏิบัติการ 90 วันปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ของกรมการพัฒนาชุมชนและโครงการของขวัญปีใหม่มท. สร้างสุข (Happy Creation)” โดยจังหวัดนครราชสีมาร่วมกับ ชมรมผู้นำ อช. มอบถุงยังชีพและเมล็ดพันธุ์ผักให้กับครัวเรือนยากจน จำนวน32 ครัวเรือน มอบทุนอุปการะกองทุนพัฒนาเด็กชนบท ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 20 ทุน ละ2,000 บาท ให้กับเด็กอายุ 0 – 6 ปี และมอบเงินช่วยเหลือซ่อมแซมบ้านครัวเรือนยากจน จำนวน 1 ราย เป็นเงิน 30,000 บาท คือ นายบุญทอง ปัตตาเนนะ บ้านเลขที่ 158 หมู่ที่ 11 ตำบลหลุ่งประดู่ อำเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า เรื่องใหญ่ที่สำคัญ ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน (ผู้นำ อช.) อาสาพัฒนาชุมชน (อช.) ท่านทั้งหลายเป็นคือบุคคลในพื้นที่ที่มความสำคัญอย่างมาก ได้ช่วยเหลือสนองพระราชปณิธานของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงมีพระราชประสงค์ที่แนวแน่อยากให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งความรัก สังคมแห่งความสามัคคี มีความเสียสละพระองค์จึงพระราชทาน โครงการ จิตอาสา 904  ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งตรงกับที่พี่ๆน้องๆ ได้ประพฤติปฏิบัติ เป็นผู้ที่มีจิตอาสา เป็นผู้เสียสละเพื่อส่วนร่วม เป็นผู้ที่ตั้งใจทำงาน และรับผิดชอบในภารกิจที่ได้รับมอบหมาย ตลอดทั้งขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆในชุมชน สู่ความสำเร็จก่อเกิดประโยชน์สุขของชุมชน ดุจเทียนไขละลายตน เพื่อให้แสงสว่างในความมืดมิดของบ้านเรือนของชุมชน ความเสียสละของพี่ๆน้องๆทุกคนเป็นสิ่งที่สังคมไทยเราขาดหาย สาเหตุเพราะว่าเรามุ่งพัฒนาเศรษฐกิจแบบตะวันตก วัดจากความมั่งคั่ง วัดจากผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ซึ่งอาจจะไม่ตอบสนองต่อความสมดุลในการขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งยั่งยืนอย่างแท้จริงได้ สิ่งที่สำคัญวันนี้ได้มาประชุมในที่นี้ เพื่อที่จะร่วมฉลองและรำลึกนึกถึงความเสียสละ ของผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน (ผู้นำ อช.) อาสาพัฒนาชุมชน (อช.) รุ่นพี่  เป็นการได้พบปะเพื่อเป็นการขอบคุณในปัจจุบัน เนื่องในวาระครบรอบ 52 ปี โครงการพัฒนาผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน เพื่อตอกย้ำว่าสิ่งสำคัญเกิดคุณประโยชน์กับชุมชน เพื่อนบ้านญาติมิตร กับ คนไทยด้วยกัน นั้นเป็นสิ่งที่สังคมต้องการ ซึ่งสอดคล้องโครงการ จิตอาสา 904 เปรียบเสมือนพระองค์ท่านมาเป็นมิ่งขวัญกำลังใจสำหรับผู้ที่เป็นจิตอาสา ทั้งที่ไปอบรมและไม่ได้ไปอบรมก็ตาม แต่มีพฤติกรรมเป็นจิตอาสา ขอให้ได้ภาคภูมิใจช่วยกันผนึกกำลังจากทุกภาคส่วน ทั้งผู้นำท้องที่ พี่น้องๆ ร่วมพลังในการช่วยกันทำงานทำหน้าที่ ในการเป็นจิตอาสาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวร่วมกัน

กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนจากการพัฒนาเพื่อความมั่งคั่ง ทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ในปีนี้เราจะตั้งมั่นตามที่ ท่านพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มอบสารและแนวทางรวมพลัง อช. สานต่อศาสตร์พระราชาพัฒนาชุมชนสู่ความยั่งยืนน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งสามารถนำไปเชิญชวนผู้นำท้องถิ่น ผู้นำชุมชนได้ยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ศาสตร์พระราชา อันประกอบไปด้วย ทฤษฎีใหม่ ขับเคลื่อนผ่านผู้นำ ทั้งโครงการ น้อมนำแนวทางพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี สู่แผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารของกรมการพัฒนาชุมชน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) โครงการนี้สามารถช่วยเหลือให้พี่น้องประชาชน มีความมั่นคงทางอาหาร โดยผู้นำต้องทำก่อน เพื่อเป็นแบบอย่าง ในสร้างวัฒนธรรมปลูกพืชผักประจำครัวเรือน  และการดำเนินงาน รณรงค์ส่งเสริมการสวมใส่ผ้าไทยภูมิปัญญาของความเป็นไทย อนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่า ดังพระปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธาน ตามพระดำริ  การรณรงค์การร่วมใส่ผ้าไทยผ้าไทยใส่ให้สนุกและได้ทรงพระราชทานแบบลายผ้าผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯแก่พสกนิกรทั่วประเทศ ผ่านกรมการพัฒนาชุมชน เพื่อนำไปเป็นต้นแบบและพัฒนาต่อยอดสู่เครื่องแต่งกาย ตามเอกลักษณ์ประจำถิ่น เพื่อให้รายได้กลับสู่ชุมชน กรมการพัฒนาชุมชนและภาคีเครือข่าย สนับสนุนการรณรงค์การสวมใส่ผ้าไทย จนเป็นมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา และกรมการพัฒนาชุมชนมีแนวทางการพัฒนา ส่งเสริมจังหวัดนครราชสีมา สู่การเป็นศูนย์กลางเส้นไหมด้วยการสนองพระดำริ  สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการอนุรักษ์รักษาคุณภาพผ้าไหมแท้ๆ และการใช้สีจากธรรมชาติ เป็นการอนุรักษ์และพัฒนาผ้าไทย  กระตุ้น ส่งเสริม ให้พี่น้องประชาชนได้รักและห่วงแหนในภูมิปัญญาผ้าไทย สร้างงาน สร้างรายได้สร้างอาชีพ พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคง และที่สำคัญ การนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาดำเนินชีวิต ในการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฏีใหม่ ประยุกต์สู่โคก หนอง นา โมเดลอันเป็นการน้อมนำศาสตร์พระราชาในการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน

ด้านนายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ขอขอบคุณท่านอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และคณะ ที่ให้เกียรติเดินทางมาเป็นประธานในการจัดกิจกรรมฯ ในครั้งนี้ จังหวัดนครราชสีมา ร่วมกับภาคีทุกภาคส่วน ขับเคลื่อนการรณรงค์ส่งเสริมให้ปลูกผักสวนครัวทุกครัวเรือน โดยเริ่มจากผู้นำในจังหวัดและขยายผลสู่ระดับครัวเรือน ทั้ง 32 อำเภอ ส่งเสริมการใส่ผ้า โดยจังหวัดนครราชสีมากำหนดให้ข้าราชการได้สวมใส่ผ้าไทยทุกวันพุธและวันศุกร์ เป็นการส่งเสริมและอุดหนุน เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ประเภทผ้า สามารถจำหน่ายผ้าไทยได้เป็นจำนวนมาก และการส่งเสริมการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่โคก หนอง นา โมเดลเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงประยุกต์สู่การปฏิบัติ อันเป็นการพัฒนารากฐานของชุมชน ของประเทศได้อย่างยั่งยืน

กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ขอขอบคุณ อาสาพัฒนาชุมชน (อช.) และผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน  (ผู้นำ อช.) ร่วมถึงผู้นำท้องถิ่น ผู้นำหมู่บ้าน เนื่องในวาระครบรอบ 52 ปี ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน 28 มกราคม 2564 ในวันนี้ได้นำความปรารถนาดีจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ท่านพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา กับผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย ได้การนำของขวัญปีใหม่มอบให้กับพี่ๆน้องๆ ทั้งกิจกรรมแบ่งปันความมั่นคงทางอาหาร มอบถุงยังชีพและเมล็ดพันธุ์ผัก มอบทุนอุปการะกองทุนพัฒนาเด็กชนบท ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีมอบเงินช่วยเหลือซ่อมแซมบ้านครัวเรือนยากจน ก็ดี แม้จะเป็นส่วนเสี้ยวเล็กๆ แต่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังและมีน้ำใจ การจัดโครงการของขวัญปีใหม่มท.สร้างสุข (Happy Creation)” ครั้งนี้จะเป็นเสมือนประกายไฟ จุดสว่างอยู่ในดวงใจของพี่น้องทุกคน ในการที่จะทุ่มเท เสียสละในฐานะ ผู้นำ อช. ด้วยความเข้มแข็ง ความเสียสละ เพิ่มพูนพลังกายพลังใจ ปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับภาคีเครือข่าย อันประกอบไปด้วยผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ หน่วยราชการ ผู้นำทางศาสนา ผู้นำทางการศึกษา  ผู้นำสื่อสารมวลชน  และผู้นำภาคประชาชน ให้เพิ่มพูนมากขึ้น ให้สมกับที่พวกเราทุกคนเป็นจิตอาสา 904  โดยพฤตินัย ตามพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อธิบดี พช. กล่าวทิ้งท้าย