วันที่ 8 มกราคม 2564 นายวิฑูรย์ นวลนุกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร ประธานการประชุมคณะกรรมการเครือข่ายองค์ความรู้(Knowledge – Based OTOP : KBO) โดยมีนายสมาน พั่วโพธิ์ พัฒนาการจังหวัดสกลนคร เลขานุการคณะทำงาน KBO ผู้ประกอบการ OTOP และผู้เกี่ยวข้อง ได้รายงานความก้าวหน้าการสนองแนวพระวินิจฉัยเกี่ยวกับการพัฒนาผ้าไทย ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ณ ห้องประชุมเทศรังสี ศาลากลางจังหวัดสกลนคร
นายวิฑูรย์ นวลนุกูล เปิดเผยว่า นับเป็นโชคดีของพวกเราชาวไทย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการจังหวัดสกลนคร ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระดำริในการสืบสานและพัฒนาผ้าไทยให้โดดเด่น งดงาม และสามารถสวมใส่ได้ในชีวิตประจำวันอย่างภาคภูมิ เมื่อครั้ง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้เสด็จไปทอดพระเนตรผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ในงานสืบสานอนุรักษ์ศิลป์ ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 14-15 พฤศจิกายน 2563 ณ จังหวัดสกลนคร พระองค์ทรงมีพระราชวินิจฉัย แก่ผู้ผลิตผู้ประกอบการ OTOP จังหวัดสกลนคร
กรมการพัฒนาชุมชน โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสกลนคร ได้น้อมนำพระราชวินิจฉัยของพระองค์ มาสู่การพัฒนาต่อยอดมรดกภูมิปัญญาผ้าไทย ให้ผ้าไทยเป็นสิ่งแสดงเรื่องราวอัตลักษณ์วัฒนธรรมประจำถิ่น สามารถนำไปออกแบบและตัดเย็บเป็นเครื่องแต่งกายที่สวมใส่ได้ในชีวิตประจำวันอย่างเหมาะสมกับทุกเพศ ทุกวัย และทำให้เกิดความรัก ความตระหนัก ให้ผ้าไทยมีชีวิตชีวา คงคุณค่าอยู่สืบไป โดยให้กลุ่มผู้ประกอบการต่างๆ ดำเนินตามแนวพระราชวินิจฉัย กลุ่มแรกได้แก่ “กลุ่มฑีตา” ผ้าย้อมครามธรรมชาติ ตำบลนาหัวบ่อ อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร ทรงมีพระราชวินิจฉัย ให้ผ้ามีความบาง ให้ออกแบบเพิ่มเติม สร้างความหลากหลายให้สินค้า จัดทำรังดุมเสื้อยังไม่เรียบร้อย ไล่เฉดสีของผ้า โดยลดเส้นยืนและความเข้มของเส้นยืนและเส้นพุ่งลงให้มีความสวยงามและลงตัวในผืนผ้า ซึ่งกลุ่มได้ดำเนินการผลิตสินค้าตามพระราชวินิจฉัย และออกวางจำหน่ายเรียบร้อยแล้ว โดยได้รับความสนใจจากผู้ได้พบเห็นเป็นอย่างมาก กลุ่มที่ 2 กลุ่มครามสกล ตำบลห้วยยาง อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร ทรงมีพระราชวินิจฉัย ให้ผู้ประกอบการผ้าพันคอชอโบริ เพิ่มความยาว และผ้าพันคอเต็มมือกำลังดี (เดิมขนาด 1×1 เมตร) ใช้พับสามเหลี่ยมเป็นผ้าพันคอ แต่ให้เพิ่มความยาวเป็น 1.8 เมตร กลุ่มได้ปรับขนาดผ้าตามพระราชวินิจฉัยเรียบร้อย และได้วางจำหน่ายเรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้ยังมี ผู้ประกอบการรายเดียว ภายใต้ชื่อ “ใต้ตำหนัก” บ้านถ้ำเต่า ตำบลสามัคคี อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร ทรงมีพระราชวินิจฉัย ให้ใช้การออกแบบผ้าไหม ไม่ให้ซับผ้ากาว, หมอนอิงยาวสามารถนอนได้, ไม่ให้เก็บริมผ้าด้วยจักรโพ้ง ให้เย็บมือแทนพับเล็กๆ ซึ่งอยู่ระหว่างออกแบบลายผ้ามัดหมี่ใหม่ เพื่อปรับเย็บทำหมอนให้ลวดลายตรงกันสวยงามและดำเนินการปรับเก็บริมผ้าด้วยการเย็บมือเรียบร้อยแล้ว และพระองค์ได้สั่งผ้าจากกลุ่มตามที่พระราชวินิจฉัย และ “กลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติบ้านนาเชือก” ตำบลแร่ อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร ทรงมีพระราชวินิจฉัย ให้เปลี่ยนจากเบาะรองนั่งเป็นที่นอนพับได้ และใช้ผ้าครามหรือผ้าที่มีลวดลาย
ในการดำเนินการดังกล่าว คณะกรรมการเครือข่ายองค์ความรู้ KBO (Knowledge – Based OTOP) ได้ให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามพระราชวินิจฉัย ว่าขอให้ทุกกลุ่มปรับแนวคิดถึงกระบวนการพัฒนา ทั้งระบบเส้นด้าย สี และขนาดผ้า และให้ทุกกลุ่มได้พัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ตามความต้องการของตลาด และคณะกรรมการ KBO จะสนับสนุนการดำเนินงานที่เป็นนวัตกรรมต่อไป
เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในวันที่ 8 มกราคม 2564 จังหวัดสกลนคร พร้อมด้วยผู้ประกอบการ ขอน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และชื่นชมในพระอัจฉริยภาพพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงมีพระดำริในการสืบสานและพัฒนาผ้าไทยให้โดดเด่น งดงาม และสามารถสวมใส่ได้ในชีวิตประจำวันอย่างภาคภูมิ เนื่องในในโอกาสอันเป็นมงคลยิ่งนี้ ปวงข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานถวายพระพรชัยมงคล ขออานุภาพแห่งพระรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากล ปกอภิบาลประทานพรให้ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเจริญด้วยจตุรพิธพรพิพัฒน์สวัสดิมงคล พระชนมายุยิ่งยืนนาน ทรงพระเกษมสำราญสถิตเป็นมิ่งขวัญ แห่งปวงประชาสถาพรตราบกาลนาน