เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563 มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยการสนับสนุนงานควบคุมการบริโภคยาสูบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ระหว่าง 7 หน่วยงาน ประกอบด้วย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท.) สมาคมองค์การ บริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย (ส.ต.ท.) และ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนงานควบคุมการบริโภคยาสูบในระดับท้องถิ่น โดยมีตัวแทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามกว่า 45 แห่ง
ด้าน ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ให้ข้อมูลว่า การเสพติดยาสูบเป็นพฤติกรรมที่ทำให้สุขภาพเสื่อมโทรม เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังและเสียชีวิตก่อนเวลา ที่ป้องกันได้ ที่สำคัญที่สุดของคนไทย โดยเฉลี่ยผู้สูบบุหรี่ที่ไม่เลิกสูบ ครึ่งหนึ่งจะเจ็บป่วยด้วยโรคจากการสูบบุหรี่ และเสียชีวิตก่อนเวลา 10 ปี ขณะที่ การสำรวจพบว่า อัตราการสูบบุหรี่ของคนไทยเท่ากับร้อยละ 19.1 เพศชายร้อยละ 37.7 เพศหญิงร้อยละ 1.7 จำนวนผู้สูบบุหรี่ 10.7 ล้านคน ร้อยละ 89 กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดทั่วประเทศ (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2560) อีกทั้ง การสูบบุหรี่นอกจากก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจครัวเรือนที่ยากจน ที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อบุหรี่ สำหรับผู้ที่สูบบุหรี่ซิกาแรทเฉลี่ยเดือนละ 858.50 บาท บุหรี่มวนเอง 115.70 บาท และผู้ที่สูบทั้ง 2 ประเภท 530.20 บาทต่อเดือน (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2560) รวมถึง ค่าใช้จ่ายในการรักษาโรค การขาดรายได้ เมื่อเจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนเวลา
ทั้งนี้ สหประชาชาติได้ระบุไว้อย่างชัดเจนในพิมพ์เขียวเป้าหมายสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ว่า ยาสูบนอกจากเป็นอุปสรรคต่อเป้าหมายการมีสุขภาพที่ดี ยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อเป้าหมายการขจัดความยากจนทุกระดับ และเป้าหมายการศึกษาที่ดีในครอบครัวยากจนที่มีคนสูบบุหรี่
ส่วน นายแพทย์ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์ดังกล่าวที่ผู้สูบบุหรี่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดเป็นส่วนใหญ่ ในพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 จึงได้กำหนดให้มีคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน มีตัวแทนส่วนราชการต่าง ๆ ในจังหวัด 13 หน่วยงาน รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิสาขาต่างๆ อีก 6 สาขาเป็นกรรมการ และมีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเป็นเลขานุการ โดยกำหนดให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภายในเขตจังหวัดซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้ง จำนวน 3 คน ร่วมเป็นกรรมการ เพื่อขับเคลื่อนแผนงานควบคุมยาสูบจังหวัด ด้วยเล็งเห็นว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีศักยภาพ และทรัพยากรในการป้องกันปัญหาอันเกิดจากการสูบบุหรี่ของประชากรในพื้นที่ที่รับผิดชอบ
ขณะที่ นายทวี เสริมภักดีกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ถือเป็นโอกาสอันดีที่เกิดความร่วมมือเพื่อสนับสนุนงานควบคุมการบริโภคยาสูบในระดับท้องถิ่น ซึ่งเป็นไปตามที่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เสนอแนะว่า การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนากลไก การจัดการระดับท้องถิ่น โดยระดมความร่วมมือทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม อสม. และชุมชน ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้คนในชุมชนป่วยด้วยโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ ลดการได้รับควันบุหรี่มือสอง ลดภาระระบบบริการสาธารณสุขของจังหวัด ลดค่าใช้จ่ายในการซื้อบุหรี่และรักษาโรค รวมไปถึง ลดจำนวนเด็กที่จะติดบุหรี่ โดยบทบาทในการป้องกันสุขภาพของคนในชุมชน เป็นการบริการสาธารณะ อันเป็นพันธกิจหนึ่งที่ท้องถิ่น ตระหนัก และหาแนวทางเพื่อปกป้องสุขภาวะของคนในชุมชนอย่างสม่ำเสมอ
โดยที่ นายแพทย์ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถขับเคลื่อนมาตรการป้องกันการสูบบุหรี่ในชุมชนได้ โดยใช้กลไกของกองทุนหลักประกันสุขภาพที่มุ่งเน้นให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทในการบริหารจัดการกองทุนได้เลย และเป็นงบประมาณจำนวนที่มากพอ เพราะนอกเหนือจากจะได้รับจัดสรรจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยังมีเงินสมทบจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และรายได้อื่น ๆ ร่วมอีกด้วย
สำหรับ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การควบคุม และลดการสูบบุหรี่ เพื่อปกป้องสุขภาพประชาชนให้ปลอดภัยจากควันบุหรี่ ถือเป็นหนึ่งในพันธกิจหลักของ สสส. และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สสส. ตระหนักถึงบทบาทสำคัญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่จะมีส่วนร่วมในการการสร้างเสริมสุขภาพในประเด็นต่างๆ อาทิ การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ การดูแลเด็กปฐมวัย การดูแลสุขภาพ การควบคุมสารเสพติด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงการสูบบุหรี่ในชุมชน ความร่วมมือที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ จึงถือเป็นการส่งสัญญาณไปถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ว่า มีหลากหลายหน่วยงานที่พร้อมสนับสนุนการขับเคลื่อนงานควบคุมการบริโภคยาสูบ อันจะนำไปสู่การลดอัตราการสูบบุหรี่ที่ยังมีอยู่สูงในระดับพื้นที่ในอนาคต/มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่/ข้อมูล
………………………………………….