ตรัง “วราวุธ” ลั่นปัญหาขยะทะเลยังไม่จบ นำหน่วยงานในสังกัดบุกเมืองตรังเซ็นเอ็มโอยูร่วมมือหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชนในพื้นที่ เดินหน้าปราบขยะ

วราวุธลั่นปัญหาขยะทะเลยังไม่จบ นำหน่วยงานในสังกัดบุกเมืองตรังเซ็นเอ็มโอยูร่วมมือหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชนในพื้นที่ เดินหน้าปราบขยะตั้งแต่ต้นทาง พร้อมอนุรักษ์พะยูนและแหล่งหญ้าทะเล ปลุกคนไทยอย่าลืมบทเรียนน้องมาเรียมเสียชีวิต ทุกวันนี้ยังมีสัตว์ต้องตายจากขยะพลาสติกอีกมาก ย้ำต้องลดละเลิกการใช้พลาสติกให้มากที่สุด

(26 ..) ที่บริเวณหาดยาว บ้านเจ้าไหม .เกาะลิบง .กันตัง .ตรัง นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เดินทางไปเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนทะเลตรังสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนพร้อมทั้งร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือขับเคลื่อนตรังสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ว่าด้วยการแก้ไขปัญหาขยะทะเลและอนุรักษ์พะยูนระหว่าง กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมควบคุมมลพิษ จังหวัดตรัง องค์การบริหารส่วนจังหวัดตรังองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะลิบง สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดตรัง มูลนิธิอันดามัน และชมรมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของทุกภาคส่วนที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาขยะทะเลและอนุรักษ์พะยูน โดยมี นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวต้อนรับ และมีนายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมกล่าวรายงาน

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า ปัญหาขยะเป็นปัญหาสำคัญที่กระทบต่อชีวิตของประชาชนและระบบนิเวศโดยเฉพาะในพื้นที่ชายฝั่งซึ่งมีขยะจำนวนมากถูกพัดพาลงไปสู่ทะเลจนเกิดผลกระทบและความสูญเสียตามมาอย่างมากมาย เช่น กรณีน้องมาเรียมลูกพะยูนขวัญใจคนไทยที่ต้องมาเสียชีวิตจากการกินเศษขยะพลาสติกในทะเล ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นบทเรียนสำคัญที่คนไทยจะต้องตื่นรู้และให้ความสนใจกับการจัดการขยะให้มากยิ่งขึ้น และที่ผ่านมาแม้จะมีสัญญาณดีหลายอย่างเกี่ยวกับการจัดการปัญหาขยะในประเทศไทย เช่นผลจากมาตรการงดใช้ถุงพลาสติกในห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาเก็ต และร้านสะดวกซื้อ ที่ทำให้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 สามารถลดปริมาณการใช้ถุงหูหิ้วพลาสติกได้ถึง 11,958 ล้านใบ หรือคิดเป็น 108,220 ตัน และเมื่อรวมกับการดำเนินโครงการอื่น ก็สามารถลดอันดับของประเทศไทยจากประเทศที่มีขยะสูงสุดเป็นอันดับ 6 ของโลก ให้มาอยู่ที่อันดับ 10 แต่ก็ยังต้องถือเป็นเพียงก้าวแรกของการทำงานเท่านั้น เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้วปัญหาจากขยะและขยะทะเลยังไม่จบวันนี้เรายังคงได้ยินข่าวการสูญเสียสัตว์จากการกินขยะพลาสติกเข้าไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นทุกฝ่ายจึงต้องร่วมมือกันสู้ต่อไป

ผมเชื่อมั่นว่าความร่วมมือที่เกิดขึ้น จะเป็นอีกจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีในอนาคต เพราะหากเราไม่ร่วมมือกันวันนี้ก็ไม่รู้ว่าวันข้างหน้าจะต้องมีเพื่อนของน้องมาเรียม หรือสัตว์อื่น ที่ต้องตายจากไปจากปัญหาขยะ โดยหลังจากนี้ผู้เกี่ยวข้องจะต้องไปคิดกันต่อว่าจะขยายผลความร่วมมือในลักษณะนี้ไปยังพื้นที่อื่น ต่อไปได้อย่างไร และที่สำคัญอยากขอความร่วมมือจากคนไทยทุกคนต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองเพื่อลดขยะที่ไม่จำเป็นและขยะพลาสติกลงให้มากที่สุด เช่นการนำหลัก 3R Reduce, Reuse, Recycle มาใช้ในชีวิตประจำวัน แม้การลดใช้พลาสติกอาจทำให้ชีวิตเราไม่สะดวกในระยะแรก แต่มันคืนราคาที่คุ้มค่าที่เราควรจ่ายเพื่อรักษาโลกใบนี้ไว้ ต้องไม่ลืมว่าต้นตอขยะ คือ มนุษย์ ดังนั้นจึงอยู่ที่ตัวเราว่าจะยอมปล่อยให้พลาสติกเป็นปัญหาที่จะทำให้สภาพแวดล้อมโลกเลวร้ายลงต่อไปหรือไม่นายวราวุธกล่าว

ด้านนายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า บันทึกความร่วมมือขับเคลื่อนตรังสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ว่าด้วยการแก้ไขปัญหาขยะทะเลและอนุรักษ์เป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดตรัง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคธุรกิจเอกชน สถาบันการศึกษาภาคประชาชน และองค์กรพัฒนาเอกชน ที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาขยะทะเลและอนุรักษ์พะยูนตามแนวทางขับเคลื่อนตรังสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ประกอบด้วย

1.ร่วมกันดำเนินการแก้ไขปัญหาขยะทะเลจากต้นทาง โดยสำนักงาน สถานที่ราชการร้านค้า ตลาด สวนสาธารณะ และกิจกรรมการท่องเที่ยวปลอดขยะพลาสติกและโฟมขับเคลื่อนครัวเรือนต้นแบบการจัดการขยะ การนำขยะจากกิจกรรมในทะเล เช่น เรือโดยสาร เรือประมง กลับคืนสู่ฝั่ง 2.พัฒนาระบบการคัดแยกขยะ จัดเก็บ และการขนส่งขยะ ให้ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล รวมทั้งสนับสนุนธุรกิจซื้อขายขยะรีไซเคิล 3.พัฒนามาตรการด้านการเงินการคลัง เช่น ระบบการจัดเก็บค่าธรรมเนียม หรือภาษีท้องถิ่นหรือภาษีสิ่งแวดล้อม โดยยึดหลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย 4.พัฒนาการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นำบรรจุภัณฑ์กลับสู่กระบวนการรีไซเคิล 5.ประสานความร่วมมืออนุรักษ์พะยูน คุ้มครองแหล่งที่อยู่อาศัย หญ้าทะเล และระบบนิเวศทะเล และ6.พัฒนาและสนับสนุนกลไกความร่วมมือ อาสาสมัคร เครื่องมือ หรือกระบวนการในการจัดการ การติดตามและเฝ้าระวัง เพื่อแก้ไขปัญหาขยะทะเลและอนุรักษ์พะยูน ขับเคลื่อนตรังสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ความร่วมมือครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะจากประชาชนในจังหวัดตรัง โดยมีกลไกการทำงานที่สำคัญ คือ คณะทำงานขับเคลื่อนตรังยั่งยืนฯ ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังมาเป็นประธานด้วยตัวเอง และมีตัวแทนจากภาคีความร่วมมือต่าง เข้าร่วมเป็นคณะทำงาน เพื่อแก้ไขปัญหาขยะโดยเฉพาะในพื้นที่ชายฝั่ง 5 อำเภอ ประกอบด้วย .สิเกา .กันตัง .ปะเหลียน .หาดสำราญ และ.ย่านตาขาว ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเกิดการอนุรักษ์พะยูนและแหล่งหญ้าทะเลให้เกิดความยั่งยืนต่อไปอธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าว