สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดประจวบฯติดกำไลข้อเท้า EM ผู้ที่ได้การพักการลงโทษและลดวันต้องโทษ จำนวน 24 ราย ตามแนวคิด รมต.ยุติธรรม “ให้โอกาส คืนอิสรภาพ เพิ่มความมั่นใจ สู่สังคมปลอดภัย”
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 24 พ.ย.2563 ที่สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ถ.สวนสน – บ้านอ่าวน้อย – คั่นกระได อ.เมือง จ.ประจวบฯ นายประหยัด ไม้แพ ผู้อำนวยการสำนักงานคุมประพฤติ จ.ประจวบฯ พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักงานคุมประพฤติจังหวัด เจ้าหน้าที่สำนักงานคุมประพฤติฯ สาขาหัวหิน อาสาสมัครคุมประพฤติจังหวัด ( อ.ส.ค. ) ได้ร่วมในการรับการรายงานตัวของผู้ถูกคุมประพฤติ ที่ได้การพักการลงโทษจากเรือนจำจังหวัดประจวบฯ จำนวน 24 คน พร้อมติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว หรือกำไล EM โดยมีเจ้าหน้าที่สำนักงานคุมประพฤติคอยชี้แจง และทำความเข้าใจในขณะที่ผู้ถูกคุมต้องใส่กำไลข้อเท้าEM
ด้าน นายประหยัด ไม้แพ ผอ.สำนักงานคุมประพฤติ จ.ประจวบฯ กล่าวว่า สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดประจวบฯ ได้นำผู้ที่ได้รับการพักการลงโทษและลดวันต้องโทษ จากเรือนจำจังหวัดประจวบฯ ที่จะต้องมาติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว หรือกำไล EM จำนวน 24 คน โดยอยู่ในพื้นที่สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดประจวบฯ 14 ราย สำนักงานคุมประพฤติฯ สาขาหัวหิน 7 ราย สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดสุราษฎร์ธานี 2 ราย และกรุงเทพมหานคร 1 ราย ตามนโยบายของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.กระทรวงยุติธรรม ที่ให้ผู้ได้รับการปล่อยตัวก่อนกำหนดจากเรือนจำ ได้มาติดอุปกรณ์ตัวนี้ ซึ่งกำไล EM ตัวนี้จะอยู่กับผู้ได้รับการพักการลงโทษ ตลอดระยะเวลาจนกว่าจะครบกำหนดโทษ ซึ่งได้กลับไปอยู่ที่บ้านพักตัวเอง และทางเจ้าหน้าที่สำนักงานคุมประพฤติจะได้มีการติดตาม ซึ่งอุปกรณ์ตัวนี้จะส่งสัญญาณในกรณีที่ผู้ถูกคุมกระทำผิดเงื่อนไขการคุมประพฤติ ซึ่งเงื่อนไขก็ได้แก่ ห้ามออกนอกเขตจังหวัด ห้ามเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ห้ามประพฤติตนในทางที่เสียหาย อีกทั้งกำไล EM นี้ ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถติดตามตัวผู้ได้รับพักการลงโทษและลดวันต้องโทษได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ซึ่งอยากฝากให้ทางญาติและพ่อแม่พี่น้อง ช่วยกันสอดส่องดูแล หากบุคคลเหล่านี้ไปอยู่ในชุมชนของท่าน ก็อยากให้โอกาสพวกเค้าเหล่านี้ หากมีการประพฤติตนในทางที่ไม่ดี ก็กรุณาแจ้งมาได้ที่สำนักงานคุมประพฤติจังหวัด
ทั้งนี้ กำไล EM ดังกล่าว มาใช้กับผู้ถูกคุมประพฤติ 3 กลุ่มคือ กลุ่มผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการประกันตัวและถูกคุมประพฤติตามคำสั่งศาล ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 กลุ่มผู้ต้องขังที่ได้รับการพักโทษตาม พ.ร.ฎ.อภัยโทษ และกลุ่มผู้ติดยาเสพติดที่อยู่ระหว่างการรอตรวจพิสูจน์อยู่ในเรือนจำ 30-45 วัน ตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด โดยแนวทางการสั่งใช้ EM ของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด คณะอนุกรรมการฟื้นฟูฯ มีแนวทางการสั่งใช้ EM กับผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์โดยอาศัยระเบียบคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดฯ ข้อ 63/1 ปัจจุบันมีการติด EM ของสำนักงานคุมประพฤติจ.ประจวบฯ มีผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ จำนวน 15 ราย ปลดแล้ว 7 ราย อยู่ระหว่างติดเป็นจำนวน 8 ราย ในส่วนลักษณะโทษที่ได้รับการพักโทษ ผู้ต้องขังที่ได้รับการพักโทษระหว่าง 2- 5 ปี จะต้องติดกำไล EM ประมาณ 2 ปีครึ่ง และจะต้องเข้ารายงานตัวกับสำนักงานคุมประพฤติ จ.ประจวบฯ และสำนักงานสาขาหัวหิน ตามกำหนดนัด อย่างไรก็ตามการใช้กำไล EM นอกจากช่วยลดปัญหาความแออัดในเรือนจำแล้ว ยังเป็นการใช้มาตรการควบคุมแทนการกักขัง เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ถูกคุมประพฤติได้กลับไปทำมาหาเลี้ยงครอบครัวได้ด้วย ภายใต้แนวคิด “ให้โอกาส คืนอิสรภาพ เพิ่มความมั่นใจ สู่สังคมปลอดภัย”
สำหรับผู้ที่จะเข้าข่ายใช้กำไล EM นั้น กระทรวงยุติธรรม จะมีคณะอนุกรรมกรรมการขึ้นมาพิจารณา การพักการลงโทษ กระทรวงยุติธรรม ได้กำหนดแนวทางไว้เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ในความปลอดภัยให้กับสังคม โดยคำนึงถึงความรุนแรงของการกระทำผิดและโทษที่ควรได้รับ การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวนักโทษ ต้องคำนึงถึงความพร้อมของผู้ที่จะได้รับการพักโทษ โดยดูจากการพัฒนาพฤตินิสัยที่ต้องเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี จึงจะได้รับการพักโทษ ซึ่งในกรณีที่ไม่มีผู้อุปการะดูแล ก็จะเป็นปัญหา รวมถึงความคิดเห็นของคู่กรณี ที่หากพักโทษออกมาแล้ว คู่กรณีที่อยู่ด้านนอกไม่เห็นด้วย ก็ยังต้องพิจารณาโดยคณะอนุกรรมการก่อน หรือแม้แต่ออกมาแล้วอยู่ไม่ได้เพราะไม่มีใครดูแลเลี้ยงดู ดังนั้นต้องคำนึงถึงความเรียบร้อยและไม่เป็นภัยกับสังคม ซึ่งนักโทษที่ใช้กำไล EM จะอยู่ในระดับปานกลาง คดีลักทรัพย์ ฉ้อโกงบุกรุก ทำร้ายร่างกาย หรือคดีที่ไม่ได้ร้ายแรง ก็จะได้รับโอกาสพักการลงโทษ ติดกำไล EM เพื่อเป็นมาตรการทางเลือกแทนการจำคุก
ทั้งนี้กำไล EM ที่นำมาใช้ มีความแข็งแรงและเป็นมาตรฐานเดียวกันกับที่ศาลใช้ มีเทคโนโลยีการควบคุมที่ทันสมัยด้วยระบบ 4 จี สามารถติดตามตัวผู้ถูกคุมประพฤติแบบเรียลไทม์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง จากศูนย์ควบคุมและติดตามอุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์ กระทรวงยุติธรรม โดยจะมีจอมอนิเตอร์จำนวน 10 จอ ในแต่ละภูมิภาคจะมีจอเฝ้าติดตามหากมีการตัดทำลาย เสียงสัญญาณจะดังขึ้นทั้งที่ศูนย์ควบคุมฯและที่ตัวอุปกรณ์ ซึ่งกำไลดังกล่าวจะถูกสวมที่ข้อเท้า มีแบตเตอรี่ที่ทนมากกว่าเดิม ซึ่งการใช้กำไล EM โดยเฉพาะผู้ได้รับการพักการลงโทษนั้น ก่อนการปล่อยตัวผู้ต้องขัง ต้องผ่านโปรแกรมที่เข้มข้น เพื่อพัฒนาพฤตินิสัย จนกระทั่งมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น ถึงเข้าสู่กระบวนการพิจารณาวินิจฉัยพักการลงโทษ ซึ่งจะพิจารณาในประเด็นต่างๆ ได้แก่ ผู้อุปการะที่จะให้การดูแล ชุมชนที่จะกลับไปพักอาศัย ตลอดจนความเห็นของคู่กรณีหรือผู้เสียหาย ซึ่งหากเข้าเกณฑ์ จะมีโอกาสในการพักการลงโทษและติดอุปกรณ์กำไล EM
ในส่วนการติดตามผู้ที่ได้รับการพักการลงโทษที่ทำผิดเงื่อนไข ซึ่งมีการกำหนดเงื่อนไขในหลายข้อ ทั้งการห้ามออกนอกเขตกำหนด ห้ามเข้าไปในเขตบ้านผู้เสียหาย ห้ามออกนอกบ้านเวลากลางคืน ซึ่งเงื่อนไขเหล่านี้ คณะอนุกรรมการพักโทษจะกำหนดให้คณะกรรมการควบคุมความประพฤติดูแลและรายงานตัว เพื่อยืนยันว่าจะมีอาชีพทำงานและอยู่ในสังคมอย่างปกติ แต่การดำเนินการต่างๆจะไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะการกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ต้องอาศัยบุคคลไปเฝ้าดู แต่ปัจจุบันกำไล EM สามารถตรวจสอบดูได้ว่า บุคคลดังกล่าวอยู่ที่ใด โดยผู้ที่ปล่อยตัวในการพักโทษทุกคน ยกเว้นกรณีที่ป่วยเจ็บจนไม่สามารถเคลื่อนไหวได้
ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับการพักโทษจะต้องติดอุปกรณ์กำไล EM เป็นเวลา 1 ปี หลังจากการปล่อย ฉะนั้น 1 ปี เป็นระยะเวลาที่เสี่ยงที่สุดในการทำความผิดซ้ำ คนที่ปล่อยไปตั้งแต่อุปกรณ์นี้และมอนิเตอร์จากศูนย์ EM เพื่อควบคุมความประพฤติ หาก 1 ปี ไม่เพียงพอทางกรมควบคุมความประพฤติก็สามารถติดเพิ่มเติมได้ อีกทั้งการติดกำไล EM จะลดโอกาสในการทำความผิดซ้ำคนที่ปล่อยจากการพักโทษลงได้อีก และยังเป็นการเพิ่มโอกาสให้กลุ่มนี้ได้ออกไปข้างนอก และสังคมก็มีความปลอดภัย
สำหรับศูนย์ควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว ดูแลโดยกรมคุมประพฤติ เป็นศูนย์กลางเพื่อควบคุมติดตามกลุ่มเป้าหมาย ให้ปฏิบัติตามเงื่อนไข รวมถึงสามารถบริหารจัดการ หากมีผู้ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข หรือ จงใจฝ่าฝืนเงื่อนไข ที่กำหนดได้อย่างทันท่วงที โดยจะสามารถป้องกันและไม่ก่อให้เกิดผลกระทบ ที่เป็นภัยต่อประชาชนและสังคม อีกแนวทางที่กำลังจะเกิดขึ้น เพื่อความปลอดภัยของของสังคม ก็คือการติดตามกลุ่มนักโทษคดีร้ายแรงอุกฉกรรจ์ กระทำผิดซ้ำ ที่กำลังจะพ้นโทษ โดยจะเสนอให้ทางสำนักงานอัยการสูงสูดช่วยแก้ปัญหาโดยกฎหมายกักกัน ซึ่งทางอัยการต้องยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่ง ใช้กำไลEM นอกเหนือจากการกักกัน เพื่อติดตามคนกลุ่มนี้หลังจากพ้นกำหนดโทษ นักโทษคดีร้ายแรงที่อัยการขอศาลให้มีการกักกันหลังจากพ้นโทษแล้ว นอกจากจะนำไปกักกันในสถานที่กำหนดแล้วยังจะต้องใส่กำไลEM เพื่อความปลอดภัยของสังคม