ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 13 พ.ย.63 ที่ผ่านมา ที่บริเวณศาลพ่อขุนรองปลัดชู บริเวณหาดหว้าขาว บ้านทุ่งมะเม่า ต.อ่าวน้อย อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ นายพงษ์พันธ์ วิเชียรสมุทร อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทองและอดีตรองผู้ว่าฯจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้เป็นประธานเปิดการแถลงข่าวการจัดงานแสดงสด แสง สี เสียง ขุนรองปลัดชูพร้อมกองอาทมาต 400 ชีวิต ที่เข้าต่อสู้ยันกับกองทัพพม่า เมื่อคราวสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โดยมี นายนคร ศรีสุทานันท์ รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)อ่าวน้อย นายอนุภาพ พูลสวัสดิ์ ประธานกลุ่มเพ็ญพุธประจวบคีรีขันธ์ น.ส.ปริษา ใจเสงี่ยม ประธานกลุ่มผู้ศรัทธาขุนรองปลัดชู นายโอฬาร พีระณรงค์ ตัวแทนสมาคมท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดประจวบฯ นายสุวิทย์ สงคราม ประชาสัมพันธ์จังหวัด ตลอดจนชาวบ้านทุ่งมะเม่า ชาวบ้านตำบลอ่าวน้อย และสื่อมวลชน ร่วมในการแถลงข่าว ทั้งนี้ เพื่อรำลึกถึงวีรกรรมของขุนรองปลัดชูพร้อมกองอาทมาต 400 คนซึ่งเป็นชาวเมืองวิเศษไชยชาญ ที่เดินทางจากเมืองวิเศษไชยชาญ มาต้านทัพพม่าของพระเจ้าอลองพญา (ก่อนเสียกรุงครั้งที่สอง) โดยสู้รบแบบสละชีวิต และเสียชีวิตทั้งหมด 400 คน ณ บริเวณหาดหว้าขาว โดยทุกปี จะได้จัดพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ล่วงลับ ณ สมรภูมิการสู้รบที่หาดหว้าขาว
โดยความเป็นมา ก่อนที่จะมีการจัดงานในครั้งนี้ ได้ลำดับเหตุการณ์ในการดำเนินงานเพื่อที่ก่อสร้างอนุสรณ์สถานขุนรองปลัดชูขึ้น โดยเมื่อวันที่ 13 ก.ย.2562 พล.ต.วรวุฒิ แสงทอง รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 1 สำนักปฏิบัติ ภารกิจรักษาความมั่นคงภายในกองทัพบกพร้อมคณะจิตอาสาพระราชทาน 904 วปร. ได้ลงพื้นที่ อบต.อ่าวน้อยและอนุสรณ์สถานขุนรองปลัดชู ต่อมาในวันที่ 13 ต.ค.2562 มีคำสั่งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่ 10046/2562 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานยกย่องเชิดชูเกียรติขุนรองปลัดชูและชาวบ้านสี่ร้อย กองอาสาสมัครจากเมืองวิเศษไชยชาญในพื้นที่จ.ประจวบฯ โดยนายพัลลภ สิงหเสนี ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และต่อมา วันที่ 4 ธ.ค.2562 จ.ประจวบฯ และ จ.อ่างทอง ได้จัดพิธีรำลึกวีรกรรมความกล้าหาญ ขุนรองปลัดชู และกองอาทมาต 400 จนมาเมื่อวันที่ 31 ม.ค.2563 ได้รับหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน ทุ่งมะเม่า หมู่ที่ 13 ต.อ่าวน้อย จำนวน 16 ไร่ และในวันที่ 27 ส.ค.2563 ทางกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้มีการออกแบบอนุสรณ์สถานขุนรองปลัดชูและชาวบ้านสี่ร้อย พร้อมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 / 2563 ณ ศาลาประจำหมู่บ้านทุ่งมะเม่า
และมาเมื่อวันที่ 13 พ.ย.2563 ได้มีการแถลงข่าวการจัดงานวีรกรรมขุนรองปลัดชูและกองอาทมาต 400 โดยได้กำหนดการจัดงานขึ้นในวันที่ 11 ธ.ค.2563 เวลา19.30 น. ซึ่งจะเป็นการจัดงานในรูปแบบการจัดการแสดงสด แสง สี เสียง เรื่องขุนรองปลัดชูที่นำกองอาทมาตสี่ร้อยเข้ายันกับกองทัพพม่า ณ บ้านทุ่งมะเม่า โดยจัดแสดงครั้งยิ่งใหญ่ ระบบ แสง สี เสียง เอฟเฟคครบถ้วน มีนักแสดงกว่า 60 ชีวิต ซึ่งขณะนี้ได้เปิดจองบัตรเข้าชมการแสดงเพียงรอบเดียวเท่านั้น บัตรราคาเพียงใบละ 150 บาท จำหน่ายบัตรจำนวน 3,000 ใบ หางบัตรสามารถชิงรางวัลรูปหล่อพ่อขุนรองปลัดชูรุ่น 1 และเหรียญพ่อขุนรองปลัดชูรุ่น 1 ผู้สนใจสามารถสอบถามได้ที่โทร 086-368-0069 เพจอนุสรณ์การศึกครั้งสุดท้ายพ่อขุนรองปลัดชูและกองอาทมาต สำหรับวัตถุประสงค์การจัดงาน 1.เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติวีรกรรมของขุนรองปลัดชูและกองอาทมาต ในด้านความเสียสละ ความกล้าหาญ และความจงรักภักดีที่มีต่อผืนแผ่นไทย 2.เพื่อจัดหารายได้ในการจัดสร้างอนุสรณ์สถานขุนรองปลัดชูและชาวบ้านสี่ร้อย 3.เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์และส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และ 4.เพื่อสร้างจิตสำนึกไห้ประชาชนมีความเสียสละและจงรักภักดีต่อผืนแผ่นดินเกิดให้มากขึ้น
ทั้งนี้ในบันทึกประวัติศาสตร์เกี่ยวกับขุนรองปลัดชูและกองอาทมาต นั้น ขุนรองปลัดชู อดีตเป็นครูดาบที่มีฝีมือในเมืองวิเศษไชยชาญ มีลูกศิษย์มากมาย ได้รับการแต่งตั้งในเมืองวิเศษไชยชาญตำแหน่ง ปลัดเมือง ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ นามว่า “ขุนรองปลัดชู” ต่อมามีการตั้งอาสาสมัครกองอาทมาตได้ 400 คน นำกำลังเข้าสมทบกับกองทัพของพระยารัตนาธิเบศร์ เพื่อสกัดกองทัพพม่าที่นำโดยเจ้ามังระราชบุตร และมังฆ้องนรธา ที่เข้าตีแขวงเมืองตะนาวศรีแตก ทัพดังกล่าวได้ข้ามช่องแคบด่านสิงขรมุ่งสู่เมืองกุยบุรี เดินตามชายฝั่งทะเลเข้าสู่กรุงศรีอยุธยา ขุนรองปลัดชู พร้อมกองอาทมาต ได้ตั้งทัพอยู่ที่อ่าวหว้าขาว ซึ่งเป็นจุดแคบสุดในภูมิประเทศที่ได้เปรียบ ปัจจุบันคือตำบลอ่าวน้อย อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ปะทะกับกองทัพพม่าซึ่งมีกำลังราว 8,000 คน สู้รบกันตั้งแต่เช้าจรดเย็น แต่จำนวนที่น้อยกว่า10 เท่า และไม่ได้รับกำลังเสริมจากทัพของพระยารัตนาธิเบศร์ กองอาทมาตจึงเสียเปรียบเพราะความอ่อนล้า และถูกฝ่ายตรงข้ามไล่ฆ่าฟันจนเสียชีวิตทั้งหมด กองทัพพม่าจึงผ่านเมืองกุยบุรีเข้าไปถึงยังกรุงศรีอยุธยาโดยง่ายดาย ทำให้ต้องเสียกรุงศรีอยุธยาโดยง่าย ดังกล่าว วีรกรรมขุนรองปลัดชู จึงถูกจารึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ชาติไทย และมีการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ เพื่อจูงใจให้เกิดความรักชาติ อีกทั้งเตรียมที่จะจัดตั้งอนุสาวรีย์บริเวณหาดหว้าขาว เร็วๆนี้
ด้าน นายพงษ์พันธ์ วิเชียรสมุทร อดีตรองผู้ว่าฯจ.อ่างทอง และ จ.ประจวบฯ ได้กล่าวเป็นบทกลอนที่ประพันธ์โดย พระอาจารย์ปริญญา(กลาง) ธีรปัญญา ที่ประพันธ์บทกลอนนี้ให้เป็นการเฉพาะ ในพิธีถวายสังฆทานและตักบาตรเพื่อเชิดชูวีรกรรมขุนรองปลัดชูและจิตอาสาทั้งสี่ร้อยจากเมืองวิเศษไชยชาญ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2563 ดังนี้
…กูจากลูกจากเมียด้วยใจหาญ วิเศษไชยชาญ บ้านกูที่ฟูมฟัก
จากพ่อแม่พี่น้องที่ กูรัก
เพราะตระหนักรักชาติ ยิ่งกว่าสิ่งใด
….กูอาสามากัน ทั้งสี่ร้อย
พวกกูน้อย กูไม่ถอยไม่หวั่นไหว
เพราะที่นี่คือบ้านกู แผ่นดินไทย
มิให้ใครรุกล้ำ มาย่ำยี
….กูสู้ตาย ไม่เสียดายซึ่งชีวิต
ข้าศึกมา ทั่วทุกทิศกูไม่หนี
กูแหลกเหลว ดับดิ้นสิ้นชีวี
หาดหว้าขาว ที่นี้ ที่กูตาย
…กูจากบ้านมาไกล มิได้กลับ
ร่างกูลับ ขอชื่อกู อย่าเลือนหาย
ปลัดชู พี่น้องกู สี่ร้อยนาย
พวกมึงอย่าให้กูตาย ไร้ค่าเลย
…กูปกป้องแผ่นดิน ที่ มึงอยู่
ให้มึงรู้ สามัคคี อย่านิ่งเฉย
จงรักมั่น เหมือนอย่างที่ กูเคย
รักชาติยิ่ง กว่าคำเอ่ย เพียงวาจา…
ทั้งนี้ กำหนดการจัดงาน วันศุกร์ที่ 11 ธันวาคม 2563 ณ หาดหว้าขาว เวลา 10.00 น. การแสดงเรื่องขุนรองปลัดชูและชาวบ้านสี่ร้อย ( รอบซ้อม) เวลา 16.00 น. พิธีทอดผ้าป้าสามัคคีจากชาวบ้านจากตำบลสี่ร้อย อ.วิเศษไชยชาญ จ.อ่างทอง เวลา 17.00 น. พิธีบวงสรวง เวลา 19.30 น. การแสดงสด แสง สี เสียง เรื่องขุนรองปลัดชู เวลา 21.00 น. รำวง(จำหน่ายบัตร)///////