อธิบดี พช. ปักหมุดสกลนคร ประชุม conference เน้นย้ำขับเคลื่อนงานตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา โมเดล พร้อมฝาก 3 ประเด็นหัวใจสำคัญให้ ขรก.พัฒนาชุมชน มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทยมีความผาสุกอย่างมั่นคงยั่งยืน
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมสรุปบทเรียนและเตรียมความพร้อมการดำเนินงานโครงการขับเคลื่อนพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล (Video conference) จากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 16 ต.ค.63 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล และ รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ที่ปรึกษาอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ผู้แทนจากมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ มูลนิธิรักษ์ดินรักษ์น้ำ Gisda กฟผ. ผู้แทนเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ มีจังหวัด 18 จังหวัด ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน 11 แห่ง และเครือข่ายการดำเนินงานพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ 22 แห่ง ร่วมประชุมผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล (Video Conference)
โดยผู้แทนจากเครือข่ายการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบฯ ได้นำเสนอสรุปบทเรียนการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา และเตรียมความพร้อมในการดำเนินงานต่อไป โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบและเตรียมความพร้อมรองรับการฝึกอบรมและเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการพื้นที่เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต กิจกรรมฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง รูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล ซึ่งจะใช้พื้นที่ของศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนและเครือข่ายเป็นพื้นที่เรียนรู้สร้างความเข้าใจเศรษฐกิจพอเพียง ให้กลุ่มเป้าหมายเป็นแกนนำการพัฒนา สามารถเป็นครูกระบวนการ ครูกสิกรรม ครูพาทำ ครูประจำฐานเรียนรู้ การพึ่งพาตนเอง และครูพาทำ เพื่อขับเคลื่อนงานและเชื่อมโยงเครือข่ายในพื้นที่ทั้ง 7 ภาคีได้
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวเน้นย้ำว่า หลังการประชุมครั้งนี้ขอให้แต่ละหน่วยงานนำไปขับเคลื่อนงานในเชิงระบบ โดยขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นอย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ช่วยกันทำให้สิ่งที่เราคาดหวังไว้เป็นจริง ขอขอบคุณสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่ให้ ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล และ รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ มาช่วยขับเคลื่อน รวมทั้ง มูลนิธีกสิกรรมธรรมชาติ มูลนิธิรักษ์ดินรักษ์น้ำ Earth safe มหาวิทยาลัยแม่โจ้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต และอีกหลายเครือข่ายที่ร่วมกันทำงานขับเคลื่อนงานตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทั้งสองพระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชนอย่างสูงยิ่ง ทั้งพระราชทานพระบรมราโชวาท และพระราชทานภาพวาดฝีพระหัตถ์
” 3 ประเด็นหลักที่ผมต้องการเน้นย้ำในวันนี้ คือ เรื่องแรก ให้ถามใจตัวเองว่าเราคาดหวังอะไร เราอยากให้ประชาชนมีความสุขอย่างยั่งยืนหรือไม่ ถ้ามีความคาดหวังแบบนี้ ให้มองรอบตัวว่า ข้าราชการมีหน้าที่ทำให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้นใช่หรือไม่ โดยเฉพาะข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทยที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานภาพวาดฝีพระหัตถ์เป็นกำลังใจ เป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจอย่างมาก ขอให้เราตั้งมั่นตั้งใจทำความดีสนองคุณแผ่นดินอย่างเต็มกำลังสามารถ เรื่องที่ 2 การทำงานเพียงลำพังจะไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากข้าราชการจะมีการโยกย้ายอยู่ไม่นาน แต่พี่น้องประชาชนที่เป็นเครือข่าย ทั้งประธานกองทุนต่าง ๆ ประธานกลุ่มสตรี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนันผู้ใหญ่บ้าน เขายังอยู่ในพื้นที่ เพราะฉะนั้น ขอให้ลงไปทำงานร่วมกับเครือข่าย ไปร่วมคิดร่วมทำ เป็นภาคีช่วยเหลือกัน ต้องผูกรักผูกมิตรกับผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ รวมทั้ง ส่วนราชการอื่น ๆ ทั้งสถาบันการศึกษาและกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ
เรื่องที่ 3 งานของพัฒนาชุมชนนั้นเป็นเป็นการพัฒนาแบบองค์รวม สามารถบูรณาการร่วมกันได้ จะต้อง “ต่อยอด” การทำงาน คือการพัฒนาให้ดีขึ้น ซึ่งเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จทอดพระเนตรบูทกิจกรรมการจัดแสดงภูมิปัญญาผ้าไทยของกรมการพัฒนาชุมชน ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ทรงชื่นชมผ้าไหมแพรวาลายประยุกต์ที่เป็นลายแนวใหม่ ซึ่งตรงกับพระราชปณิธานที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด การบูรณาการเรื่องผ้าไทยนี้เป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องปากท้องของคน เป็นความมั่นคงทางเครื่องนุ่งห่ม อย่างที่โบราณว่า “มีความรู้อยู่กับตัวจะกลัวอะไร” การทำงานจึงต้องบูรณาการกัน อีกเรื่อง การพัฒนาพื้นที่ต้นแบบตามหลักทฤษฏีใหม่ ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล ก็เป็นการต่อยอดคือเอาหลักเกษตรทฤษฏีใหม่มาประยุกต์ ซึ่งโคกหนองนา เป็นเรื่องของการปลูกพืชผักสวนครัว เป็นเรื่องของสุขภาพเด็ก สุขภาพผู้สูงอายุด้วย ทั้งหมดคือการพัฒนาคุณภาพชีวิตคน ซึ่งเราสามารถทำได้”
ในการนี้ อธิบดี พช. ได้ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าพัฒนาชุมชนจังหวัดสกลนคร พร้อมมอบแนวทางในการทำสำนักงานให้เป็นเสมือนโชว์รูมผลิตภัณฑ์ OTOP เด่นของจังหวัด และเป็นแหล่งข้อมูลชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีของจังหวัดให้กับนักท่องเที่ยวหรือผู้มาติดต่อราชการ และฝากชวนให้ชาวบ้านช่วยกันปลูกผักสวนครัวอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดพลังและสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยมีนายจิรศักดิ์ สีหามาตย์ พัฒนาการจังหวัดสกลนคร และทีมงานให้การต้อนรับ