โมเดลหมอดินไทยต้นแบบทั่วโลก

FAO.ชื่นชมความสำเร็จของประเทศไทย เปิดตัวโครงการหมอดินโลก ใช้โมเดลหมอดินไทยเป็นต้นแบบทั่วโลก“เฉลิมชัย”เดินหน้าอัพเกรดเพิ่มประสิทธิภาพ Agrimap ด้วยแพลตฟอร์มดิจิทัล

เมื่อวันที่  7 ตุลาต 2563  นายอลงกรณ์ พลบุตร   ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แถลง  ว่า นาย เอดัวร์โด แมนซูร์(Eduardo Mansur)ผู้อำนวยการด้านดิน น้ำ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ( FAO ) ได้แสดงความชื่นชมในความสำเร็จของประเทศไทย และยังแสดงความขอบคุณต่อกรมพัฒนาที่ดินในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ในการดำเนินโครงการหมอดินของไทยจนนำไปสู่โครงการหมอดินโลก (Global Soil Doctors Programme) และFAO ยังได้นำชุดทดสอบดินที่พัฒนาโดยคณาจารย์ของมหาวิทยาลัเกษตรศาสตร์(ศูนย์AICกรุงเทพมหานคร)  และเอกสารการถ่ายทอดความรู้ด้านดินของกรมพัฒนาที่ดินเป็นต้นแบบในการขยายโครงการหมอดินโลกไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่อไป

ทั้งนี้เป็นรายงานจากสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงโรมเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2563 เวลา 14.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงโรม) กรณีที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และ สมัชชาความร่วมมือดินโลก (Global Soil Partnership หรือ GSP) ได้จัดงานเปิดตัวโครงการหมอดินโลก (Global Soil Doctors Programme) โดย FAO ได้นำประสบการณ์และความสำเร็จของ “โครงการหมอดินอาสา” ของกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปขยายโครงการหมอดินโลก (Global Soil Doctors Programme) เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรให้ความสำคัญในการจัดการทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมมากกว่า 600 คนจากทั่วโลก

นายธนวรรษ เทียนสิน อัครราชทูต (ฝ่ายเกษตร) ผู้แทนถาวรไทยประจำ FAO/IFAD/WFP และประธานคณะกรรมการความมั่นคงอาหารโลก (Committee on World Food Security หรือ CFS) ได้กล่าวถึงความสำคัญของโครงการหมอดิน กับความมั่นคงอาหารและเกษตรยั่งยืน โดย หมอดินอาสา มีบทบาทที่สำคัญในการถ่ายทอดความรู้ด้านดินแก่พี่น้องเกษตรกร องค์ความรู้ของหมอดินเป็นประสบการณ์ที่สั่งสมจากการลงมือปฏิบัติจริงในพื้นที่มาเป็นเวลานาน ปัจจุบันมีหมอดินอาสาจำนวนกว่า 80,000 คน ทั่วประเทศ หมอดินอาสาทำงานร่วมกับกรมพัฒนาที่ดินในระดับหมู่บ้าน เพื่อให้ความรู้ด้านการจัดการดินอย่างยั่งยืนให้แก่พี่น้องเกษตรกร ถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีในการตรวจวิเคราะห์คุณภาพดินเบื้องต้น การเก็บตัวอย่างดิน และช่วยสำรวจจัดทำข้อมูลพื้นฐานด้านคุณภาพดินในระดับหมู่บ้าน   หมอดินอาสา คือ ครูและเพื่อนที่ดีที่สุดสำหรับเกษตรกร การเรียนรู้จากประสบการณ์จากเกษตรกรด้วยกันเอง (Farmer-to-farmer learning) ทำให้เกษตรกรสามารถนำความรู้ไปใช้ได้จริงในพื้นที่ หมอดินอาสาของไทยยังได้เรียนรู้ในการน้อมนำศาสตร์พระราชา หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ และความรู้ที่เกี่ยวข้องมาประยุกต์ใช้ในการทำเกษตรในพื้นที่ของตนจนเกิดเป็นผลสัมฤทธิ์

ทั้งนี้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ   และนางสาวเบญจพร ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ได้มอบหมายให้ ดร.บรรเจิดลักษณ์ จินตฤทธิ์ เป็นผู้แทนจากกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำเสนอผลความสำเร็จของการดำเนินงานโครงการหมอดินอาสาในหัวข้อ “ประสบการณ์ความสำเร็จของหมอดินอาสาไทย” และได้เล่าถึงบทบาทของเจ้าหน้าที่กรมพัฒนาที่ดินในการทำงานอย่างใกล้ชิดกับหมอดินเพื่อสนับสนุนความช่วยเหลือทางวิชาการและปัจจัยการผลิตที่สำคัญแก่เกษตรกร พร้อมได้นำเสนอวิดีทัศน์ผลความสำเร็จของหมอดินอาสาของไทย นายยวง เขียวนิลให้แก่ประเทศสมาชิกและผู้ร่วมประชุมได้ร่วมรับทราบข้อมูล

สำหรับโครงการ Global Soil Doctors Programme นี้ FAO เป็นกิจกรรมที่เป็นต้นแบบที่ดี (Best practice) ในการ    สร้างเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างเกษตรกรด้วยกัน และระหว่างเกษตรกรกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ในการร่วมมือแก้ไขปัญหาดินในภาคเกษตร สามารถสร้างผลลัพธ์เป็นที่ประจักษ์ในการจัดการทรัพยากรดินสู่ความยั่งยืน และนำไปสู่การสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของเกษตรกร ความมั่นคงทางอาหาร โดย FAO ได้ส่งเจ้าหน้าที่มาร่วมศึกษาดูงานการดำเนินงานโครงการหมอดินอาสาของประเทศไทย พร้อมทั้งนำองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการดินและการเกษตรที่ กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เผยแพร่ให้แก่เกษตรกรไปศึกษาและแปลเพื่อจัดทำเป็นเครื่องมือและคู่มือสำหรับเกษตรกร อีกทั้งขยายผลโครงการเป็นเครือข่ายหมอดินระดับโลก เปิดโอกาสให้สมาชิกได้เรียนรู้แลกเปลี่ยน และนำไปประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสมในแต่ละประเทศ

นายอลงกรณ์    กล่าวว่า  นี่เป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติให้การยกย่องการบริหารจัดการดินตามแนวทางศาสตร์พระราชาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง    และเกษตรทฤษฎีใหม่ภายใต้โครงการหมอดินอาสาของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จนนำไปเป็นต้นแบบให้กับประเทศต่างๆทั่วโลกและดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ.ได้ใช้นโยบายเกษตร4.0และเกษตรกรรมยั่งยืนยกระดับอัพเกรดระบบ Agimap โดยร่วมกับ  สวทช. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการดินโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล

หลังจากที่ก่อนหน้านี้สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ (International Union of Soil Sciences) ได้ถวายเหรียญ นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2555 และได้เสนอให้ วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันดินโลก ผ่านทางองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations – FAO) โดยได้รับความเห็นชอบจากองค์การสหประชาชาติ ( United Nations- UN)