พลอากาศเอก ดร.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานเปิดการสัมมนา สถานภาพความพร้อมด้านดิจิทัลของภาครัฐ ประจำปี ๒๕๖๐ โดยมี ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นผู้กล่าวรายงาน ทั้งนี้ พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ได้มอบหมาย นายนรกิจ ศรัทธา ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศการประชาสัมพันธ์ เข้าร่วมงานสัมมนาในครั้งนี้ด้วย เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๐ ณ ห้องบอลรูม ๑ ชั้น ๕ โรงแรม เอส ๓๑ สุขุมวิท กรุงเทพฯ
งานสัมมนาในครั้งนี้ได้มีการกล่าวถึง กรณีภาครัฐไทยมีความพร้อมแค่ไหนกับรัฐบาลดิจิทัล บรรยายโดย ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) และมีการรายงานผลการศึกษา ประเด็นความสำคัญกับความพร้อมในการเป็นรัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย
พลอากาศเอก ดร.ประจิน จั่นตอง ได้กล่าวถึง การพัฒนาการบริหารงานและการจัดการของรัฐบาล โดยมีหน่วยงานของรัฐ ต้องมีการดำเนินการให้มีประสิทธิภาพ ใน ๒ มิติ คือ จะต้องดำเนินการในสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในเรื่องของ ธรรมาภิบาล คุณธรรม จริยธรรม ซึ่งต้องดำรงไว้ และการใช้เทคโนโลยีไอซีทีเดิม หรือในปัจจุบันเปลี่ยนเป็นดิจิทัล ซึ่งจะเป็นหลักฐานประกอบในการทำธุรกรรมของหน่วยราชการ ในรัฐบาลยุคก่อนๆ โดยเฉพาะก่อนปี ๒๕๕๘ กล่าวได้ว่ารัฐบาลยุคก่อนเป็นรัฐบาลแมนนวล ซึ่งมีการใช้การประสานงาน โดยการพูดคุย ใช้เอกสารอย่างมากมาย แต่ปัจจุบันเมื่อเปรียบเทียบกัน รัฐบาลดิจิทัล จะต้องทำให้การใช้เอกสารลดลงแต่ข้อมูลยังคงอยู่ ในการทำนิติกรรมต่างๆของประชาชน อาทิ การโอนที่ดิน ในสมัยก่อนต้องมีการใช้สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนบ้าน หรือหากมีการทำนิติกรรมในลักษณะของมีผู้แทน ก็ต้องมีเอกสารต่างๆอย่างครบถ้วน การกู้เงินต้องไปแสดงตัวที่ธนาคาร ซึ่งถ้าเป็นรัฐบาลแมนนวล ต้องมีการต่อคิว เขียนกรอกคำร้อง ถ้ามีการไปใช้บริการข้ามหน่วยราชการ ต้องรอนานเนื่องจากเจ้าหน้าที่ ไม่ว่างไม่พร้อมไม่มีการประสานงานกัน แต่เมื่อเป็นรัฐบาลดิจิทัล ต้องมีการปรับเปลี่ยน Mindset มีการปรับเรื่องของ Hardware Software รวมทั้งตัวบุคคล ซึ่งจะต้องปรับให้เกิดประโยชน์ในการบริหารราชการ รัฐบาลชุดปัจจุบันจึงมี Road Map ในการดำเนินการ ต้องตอบโจทย์การทำงานที่เป็นดิจิทัลอย่างสมบูรณ์ เช่น ในปี ๒๕๖๔ เป็นอย่างไร ปี ๒๕๖๙ เป็นอย่างไร
ขณะนี้ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ได้ทำการสอบถามหน่วยราชการต่างๆ มีการจัดอันดับดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของ United Nations e-Government Survey ปี ๒๕๕๙ ประเทศไทยได้อันดับที่ ๗๗ จากทั้งหมด ๑๙๓ ประเทศ ซึ่งเดิมประเทศไทยอยู่อันดับที่ ๑๐๒ ในปี ๒๕๕๗ ส่วนของ ๒๐๑๗ Waseda-IAC International e-Government Ranking Survey ได้จัดให้ประเทศไทยอยู่อันดับที่ ๒๑ จากทั้งหมด ๖๕ ประเทศ ส่วนของ DOING BUSINESS ๒๐๑๘ จัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจของไทย อยู่อันดับที่ ๒๖ จากทั้งหมด ๑๙๐ ประเทศ ซึ่งดีขึ้นจากลำดับที่ ๔๖ ในปี ๒๐๑๗ ในส่วนของระดับความพร้อมรัฐบาลดิจิทัลของหน่วยงานภาครัฐไทย มีการสำรวจจากกรมทั้งหมด ๒๗๔ กรม และหน่วยงานระดับจังหวัด ๑,๑๗๙ หน่วยงาน มีการวัด ๖ มิติ ประกอบด้วยเสาที่ ๑ นโยบายและแนวปฏิบัติ เสาที่ ๒ ศักยภาพเจ้าหน้าที่ภาครัฐด้านดิจิทัล เสาที่ ๓ บริการภาครัฐที่สะดวกเข้าถึงง่าย เสาที่ ๔ ระบบบริหารจัดการภายในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เสาที่ ๕ โครงสร้างพื้นฐานที่มีความมั่นคงปลอดภัยและประสิทธิภาพ เสาที่ ๖ เทคโนโลยีอัจฉริยะและการนำมาใช้ ซึ่งสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ได้ดำเนินการสำรวจข้อมูล เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการเตรียมความพร้อมเพื่อเดินทางไปสู่รัฐบาลดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบต่อไป