ที่ห้องประชุมโรงแรมกีฬา จังหวัดสุพรรณบุรี ทพ.อนุศักดิ์ คงมาลัย ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวภายหลังการบรรยาย โครงการฝึกอบรมแกนนำหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม จังหวัดสุพรรณบุรี ว่าจังหวัดสุพรรณบุรี ในสมัยกรุงธนบุรีและต้นกรุงรัตนโกสินทร์ถูกกำหนดให้เป็นหัวเมืองชั้นนอก เป็นเขตที่พระราชทานให้เป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มคนเชื้อสายเขมร และลาวต่างๆ ที่ถูกกวาดต้อนมาจากหัวเมืองต่างๆ เมื่อประกอบกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่แต่เดิม ทำให้ปัจจุบันจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นดินแดน ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เช่นกลุ่มชาติพันธุ์กระเหรี่ยง กลุ่มชาติพันธุ์มอญ กลุ่มชาติพันธุ์ไทยโซ่ง (ไทยทรงดำ) กลุ่มชาติพันธุ์ไทยพวน กลุ่มชาติพันธุ์ลาวเวียง กลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่ง กลุ่มชาติพันธุ์ละว้า และคนไทยเชื้อสายจีน ซึ่งกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้มีอัตลักษณ์ของตนเองและมีการสืบทอด ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงาม จึงเป็นจุดเด่นและโอกาสของจังหวัดสุพรรณบุรี ที่จะพัฒนาให้มีการบริหารจัดการชุมชนบนความแตกต่างและหลากหลายของศิลปวัฒนธรรม และประเพณีอันดีงาม โดยประยุกต์หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ดังนั้นการสร้างแกนนำจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบบนพื้นฐานของวัฒนธรรม ตามบริบทของพื้นที่ และเพื่อเตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม ประเพณีวัฒนธรรมและด้านเศรษฐกิจ เพื่อรองรับการเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวในอนาคต
ทั้งนี้ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสุพรรณบุรี ได้บูรณาการกับ สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสุพรรณบุรี สำนักงานท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท) สุพรรณบุรี และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุพรรณบุรี ร่วมกันจัดทำโครงการดังกล่าว ขึ้นตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พ.ศ.2560-2579 ภายใต้แนวคิด “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้วด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”
ซึ่ง เน้นให้ประชาชนมีรากฐานการดำรงชีวิต และพัฒนาสู่อนาคตได้อย่างมั่นคง และสมดุล บนพื้นฐานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้ระบุไว้ในแผนยุทธศาสตร์กรมการพัฒนาชุมชน พ.ศ. 2560-2564 ยุทธศาสตร์ที่ 1 สร้างสรรค์ชุมชนให้พึ่งตนเองได้การกำหนดกลยุทธ์ การพัฒนารบริหารจัดการทุนชุมชนซึ่งมีโครงการที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุน และการขยายผลหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ โดยมีเป้าหมายครัวเรือมีอาชีพและมีรายได้เพิ่มขึ้น