การเป็นครู การเป็นผู้ดูแล หรือการรับหน้าที่ เพื่อรับผิดชอบบุกเบิกสถานศึกษา เป็นสิ่งที่ครูหลายคนหวั่นใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าต้องเข้าไปรับผิดชอบดูแลโรงเรียนที่ห่างไกล กันดาร หรือโรงเรียนที่รอการพัฒนา ดั่งเช่น “ครูปลา” ชื่อของครูที่เด็กๆ เรียกกันอย่างคุ้นเคย ครูปลา หรือ นางสาว นงคราญ. สุกระมณี ผู้ที่รับผิดชอบดูแล ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลชุมชนเตาปูน อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี. ครูปลาเธอได้เล่าให้ฟังถึงเรื่องราวในการที่เธอต้องเข้ามาดูแลศูนย์ฯแห่งนี้ ว่า ปกติแล้ว เธอก็รับผิดชอบดูแลงานด้านเอกสาร การเบิกจ่ายต่างๆของส่วนการศึกษาอยู่แล้ว เมื่อเธอทราบว่า เธอได้รับมอบหมายให้มาดูแลศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลชุมชนเตาปูน สัมผัสในความคิดแรก เธอรู้สึกได้ว่าเธอแทบอยากจะร้องไห้ เพราะเธอทราบมาก่อนแล้วว่า ชุมชนแห่งนี้ เป็นชุมชนแออัด เรียกได้ว่าคล้ายกับสลัม ที่เต็มไปด้วยปัญหาทางสังคม แต่เธอก็ต้องรับหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย พื้นที่ของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลชุมชนเตาปูน เป็นพื้นที่แออัดคับแคบ พื้นเฉอะแฉะ ต้นไม้ต้นหญ้ารกเลอะเทอะ ต้องมีการพัฒนาปรับปรุงสถานที่กันอย่างมาก และเด็กที่ถูกส่งมาเรียนก็ล้วนเป็นเด็กที่ผู้ปกครองมีปัญหา บ้างติดยาเสพติดทิ้งลูกหลานไว้ให้ปู่ย่าตายายดูแล บ้างก็มีพ่อแม่ที่ถูกจองจำ เด็กจึงต้องอาศัยอยู่กับลุงป้าน้าอา มิหนำซ้ำยังต้องอดมื้อกินมื้อ ลำบากยากจน แต่ครูปลาเธอก็ยังมีความพยายามที่จะพัฒนา
ช่วงแรกของปีการศึกษามีเด็กมาเรียนเพียงแค่ 4 คน บางวันนักเรียนก็หายไปไม่มาเรียน บางวันก็หยุดเรียนไปโดยไม่ทราบสาเหตุ เด็กบางคนถูกส่งมาเรียนแล้วก็ปีนรั้วหนีกลับบ้าน และบางวันมีเด็กที่เรียนเพียงแค่หนึ่งคนช่วงเวลานั้นเธอเกิดความรู้สึกว่า ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแห่งนี้คงจะต้องถูกปิดตัวไปในไม่ช้า. แต่แล้วโชคยังเข้าข้างยังมองเห็นว่าการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญยิ่งสำหรับเด็กและเยาวชน ส่วนราชการจังหวัดกาญจนบุรีได้มีการส่งเสริมมีทุนทรัพย์เพื่อพัฒนาปรับปรุงสถานที่มาให้ พร้อมกันนั้น ก็ยังมีโครงการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาหรือ กสศ. เข้ามาให้การดูแลสนับสนุนด้วยงบประมาณ
นอกเหนือจากนั้น บางส่วนครูปลาก็ยังนำทุนทรัพย์ส่วนตัว มาตกแต่งปรับปรุงศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลชุมชนเตาปูน ให้สะดวก สะอาด สวยงามน่าอยู่น่าเรียน ศูนย์ฯจึงถูกฟื้นขึ้นมาด้วยการดูแลของครูประจำศูนย์ฯพร้อมทั้งแม่บ้านอีก 1 คน ได้ทุ่มเททั้งกายและใจให้กับการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กเทศบาลเตาปูน ระยะเวลาเพียงไม่นาน จากมุมมองของชุมชนที่เต็มไปด้วยสารพัดปัญหา วิถีชีวิตที่แออัดจนหลายคนไม่อยากย่างกรายเข้ามา แต่ ณ ปัจจุบันนี้ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลชุมชนเตาปูน กลับกลายมาเป็นสถานศึกษาที่น่ารัก อบอุ่น มีทัศนียภาพที่สวยงาม น่าอยู่ ทำให้เด็กๆอยากเข้ามาเรียนและบุคคลภายนอกก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เมื่อเปรียบเทียบกันระหว่างชุมชนกับศูนย์ฯแห่งนี้ เป็นโลกที่เปลี่ยนไป ครูปลา เธอบอกจากความรู้สึกของเธอว่า จากสัมผัสแรกที่ไม่อยากเข้ามามีส่วนดูแล แต่ ณ ปัจจุบัน ทุกวันนี้เธอรู้สึกว่าอยากเข้ามาพบกับเด็กๆที่นี่ทุกวัน อย่างไรก็ดี ดร.เบญจวรรณ เปรมประยูร นายกเทศบาลเมืองกาญจนบุรี ยังเป็นผู้ที่ให้การสนับสนุนด้วยดีมาโดยตลอด.
วารุณี สุวรรณจิตต์/เรียบเรียง