สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 จังหวัดราชบุรี กรมควบคุมโรค ชี้ข้อมูล 2 เดือนที่ผ่านมามีสัตว์ ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าสูงกว่าปีที่แล้ว 1.5 เท่า แนะประชาชนหากถูกกัด ข่วน เลีย ให้รีบ “ล้างแผล ใส่ยา กักหมา หาหมอ และฉีดวัคซีนให้ครบตามแพทย์นัด” พร้อมทั้งเร่งค้นหาติดตามผู้ที่มีประวัติสัมผัสโรคทุกรายให้มารับวัคซีนให้ครบ 100%
นายแพทย์สุเมธ องค์วรรณดี ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 จังหวัดราชบุรี กล่าวว่าสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าของไทยขณะนี้ยังเป็นที่น่ากังวลอยู่ เนื่องจากที่ผ่านมายังมีการตรวจพบสุนัขที่สงสัยเป็นโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจากกรมปศุสัตว์รายงานว่าปี 2561 เพียง 2 เดือนพบผู้เสียชีวิตจาก โรคนี้แล้ว 2 ราย ขณะนี้มีการตรวจพบสัตว์ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 251 ตัว ซึ่งสูงกว่าระยะเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง 1.5 เท่า โดยพบว่าร้อยละ 90 ของสัตว์ที่ติดเชื้อคือสุนัข รองลงมาพบการติดเชื้อในแมวและโค ซึ่งมีรายงานการตรวจพบเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในโคเพิ่มขึ้นด้วย
ข้อมูลจากกรมปศุสัตว์รายงานว่า ปี 2561 จังหวัดที่พบสัตว์ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าสูงสุด ได้แก่ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ยโสธร กาฬสินธ์ และอำนาจเจริญ ตามลำดับ โดยสาเหตุที่ทำให้ยังมีสัตว์ติดเชื้อและมีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น 1.ประชาชนไม่นำสุนัข แมวไปรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า 2. ประชาชนปล่อยสัตว์เลี้ยงนอกบ้าน ทำให้เสี่ยงต่อการถูกกัดจากสัตว์ที่มีเชื้อ 3. ประชาชนขาดความตระหนักถึงการป้องกันการติดเชื้อ เช่น เมื่อถูกลูกสุนัข ลูกแมวกัด ข่วน เลีย ก็มักจะคิดว่าไม่เสี่ยง และไม่เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรค
นายแพทย์สุเมธ กล่าวต่อไปว่า ขอให้ประชาชนตระหนักถึงการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า โดยเริ่มตั้งแต่การเลี้ยงสุนัขหรือแมวในจำนวนที่พอเหมาะ คุมกำเนิดด้วยการทำหมัน พาไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทุกปี เลี้ยงในบริเวณบ้านอย่าปล่อยออกไปนอกบ้านโดยไม่ดูแลเพราะหากถูกหมาบ้ากัดก็อาจติดโรคพิษสุนัขบ้า รวมถึงเมื่อประชาชนถูกสุนัข แมวกัดหรือข่วน ให้รีบล้างแผลโดยใช้สบู่และน้ำสะอาดล้างบริเวณบาดแผลหลายๆ ครั้งอย่างเบามือ ซับให้แห้งแล้วใส่ยาฆ่าเชื้อ กักสัตว์ไว้ 10 วัน จากนั้นให้รีบมาพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้ครบตรงตามนัดทุกครั้ง
นายแพทย์สุเมธ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากประชาชนมีความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงความรุนแรงของโรคพิษสุนัขบ้า รู้จักวิธีป้องกันไม่ให้สุนัขกัดหรือทำร้าย จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า โดยแนะประชาชนปฏิบัติตาม คาถา 5 ย. ได้แก่ ย.1 อย่าแหย่ ให้สุนัขโมโห ย.2 อย่าเหยียบ หาง หัว ตัว ขา หรือทำให้สุนัขตกใจ ย.3 อย่าแยก สุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า ย.4 อย่าหยิบ จานข้าวหรือเคลื่อนย้ายอาหารขณะสุนัขกำลังกินอาหาร ย.5 อย่ายุ่ง หรือเข้าใกล้สุนัขที่ไม่รู้จักหรือไม่มีเจ้าของ สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ให้ช่วยกันสอดส่องดูแล หากพบสัตว์แปลกหน้าที่มีอาการดุร้ายให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์โดยเร่งด่วน หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 จังหวัดราชบุรี เบอร์ติดต่อ 032310804 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422 นายแพทย์สุเมธ กล่าวปิดท้าย