มท.1 ชูโคกหนองนาโมเดล ทางเลือกทางรอด ในยุค NEW NORMAL

มท.1 ชูโคกหนองนาโมเดล ทางเลือกทางรอด ในยุค NEW NORMAL




วันศุกร์ที่ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานพิธีเปิดการอบรมโครงการ “ประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างความเข้าใจในการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ การพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล” พร้อมมอบรางวัลบุคคลต้นแบบการน้อมนำแนวทางพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สู่แผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยมีนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวรายงาน ณ ห้องคอนเวนชั่น ชั้น ๔ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานครในการประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจในการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ตลอดทั้งภาคีเครือข่าย กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย ผู้บริหารระดับสูง ในสังกัดกระทรวงมหาดไทยส่วนกลาง ผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด พัฒนาการจังหวัด หัวหน้าหน่วยงานในสังกัด พช. จำนวน 330 คน

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-19) ส่งผลกระทบทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวและการส่งออก ซึ่งเป็นรายได้สำคัญของประเทศหายไปอย่างฉับพลัน ผู้ประกอบการรายย่อยขาดกำลัง ทุน และประชาชนขาดกำลังซื้อ ซึ่งเมื่อปัจจัยภายนอกเหล่านี้ไม่อาจเป็นที่พึ่งได้ดังที่เคยเป็นมา ในสภาวะการณ์เช่นนี้พี่น้องข้าราชการกระทรวงมหาดไทยต้องตระหนักรู้ในภารกิจหน้าที่ “ต้องช่วยกันเพื่อชาติ เศรษฐกิจต้องเดินต่อ คนต้องมีรายได้ การดำเนินการทุกขั้นตอนต้องโปร่งใส และมาจากความต้องการของประชาชน รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะในระดับฐานรากของประเทศ จึงกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ โดยมีพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ พ.ศ. ๒๕๖๓ โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญ คือเพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ และเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙

กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้เสนอโครงการภายใต้กรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ แผนงาน 3.2 ฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” งบประมาณ 4,787.916 ล้านบาท เป็นการพัฒนาพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบ โคก หนอง นา โมเดล ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน เป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับครัวเรือนและชุมชน เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ฟื้นฟูและพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง ดังนั้น ในการประชุมวันนี้ก็เพื่อกำหนดจุดเน้นที่สอดคล้องกับศักยภาพและโอกาส ในบริบทใหม่ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างมีคุณภาพ ทั่วถึง และยั่งยืน เพื่อให้การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดในระยะยาว จึงขอฝากแนวทางสำคัญ ๆ เพื่อใช้ในการบริหารโครงการ คือ การจัดทำระบบสื่อสารสร้างการรับรู้ผ่านสื่อต่าง ๆ เพื่อสร้างความมั่นใจกับประชาชน รวมถึงแสดงให้เห็นว่าโครงการเกิดผลดีต่อประชาชนอย่างไรบ้าง วางระบบการบริหารจัดการโครงการให้ดี ไม่มีการทุจริต โปร่งใสตรวจสอบได้ วางแผนการใช้จ่ายงบประมาณ วิธีการแนวทางการเบิกจ่ายงบประมาณ กำหนดผู้รับผิดชอบดำเนินการให้ชัดเจน และดำเนินการตามระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
ขอย้ำอีกครั้งว่าเรา “ต้องช่วยกันเพื่อชาติ เศรษฐกิจต้องเดินต่อ คนต้องมีรายได้ การดำเนินการทุกขั้นตอนต้องโปร่งใส และมาจากความต้องการของประชาชน” รมว.มหาดไทย กล่าว

ด้านนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวว่า “กรมการพัฒนาชุมชน มีเป้าหมายสำคัญคือ เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง และชุมชนพึ่งตนเองได้ โดยการขับเคลื่อนภารกิจดังกล่าวได้คำนึงถึงศักยภาพจากฐานเดิม ที่มีอยู่ และโอกาสภายใต้บริบทใหม่แล้ว ยังต้องสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศไทยในระยะยาวที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำ และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับโลก โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นกรอบแนวทางในการดำเนินงาน ในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๓ กระทรวงมหาดไทย ได้มอบหมายให้กรมการพัฒนาชุมชน ขับเคลื่อนโครงการสำคัญ คือ การพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนท้องถิ่นตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยครอบคลุมหมู่บ้านชุมชนทั้งหมด ๓๕,๐๓๒ หมู่บ้าน/ชุมชน โดยกิจกรรมที่ได้ดำเนินการ ในระยะแรกคือ การลดรายจ่าย สร้างรายได้ระยะสั้น ทั้งในระดับครัวเรือนและระดับกลุ่มอาชีพ โดยการน้อมนำโครงการบ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง ในพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาขยายต่อยอดสู่กิจกรรม แผนปฏิบัติการ ๙๐ วัน “ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร” ระยะที่ ๑ ดำเนินการระหว่างวันที่ 1 เมษายน-30 มิถุนายน 2563 มีครัวเรือนเป้าหมายทั้งหมดจำนวน 12.9 ล้านครัวเรือน ซึ่งเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งว่ามีพี่น้องประชาชนทั่วประเทศร่วมปลูกผักสวนครัวถึง 12,601,491 ครัวเรือน คิดเป็น 97.11% พี่น้องประชาชนที่ร่วมโครงการได้รับประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม มีผักกินในบ้านโดยที่ไม่ต้องซื้อหา “ปลูกผักที่กิน กินผักที่ปลูก” ประหยัดรายจ่าย หากคิดมูลค่าเพียง ๕๐ บาทต่อวัน 12 ล้านครัวเรือน สามารถประหยัดเงินได้มากกว่า 200,000 ล้านบาท/ปี นอกจากนี้ยังเกิดการแบ่งปันกัน ช่วยเหลือ เอื้ออาทรประโยชน์ที่ได้มากกว่าการประหยัด คือ การรักษาสุขภาพ เพราะเป็นผักปลอดภัย และกรมการพัฒนาชุมชนได้ดำเนินการต่อเนื่องเป็นระยะที่ 2 เพื่อสร้างวัฒนธรรมปลูกพืชผักประจำครัวเรือน ดำเนินการขับเคลื่อนระหว่าง 1 กรกฎาคม ถึง 5 ธันวาคม 2563 ภายใต้แนวคิด “ความต่อเนื่องคือพลัง” ส่งเสริมการปลูกพืชผักเพิ่มเติม “ทำเป็นบ้านสานเป็นกลุ่ม” ส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มเพื่อบริหารจัดการผลผลิตส่วนเกิน ให้มีมูลค่าเพิ่ม “ชุมชนสีเขียวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” สร้างจิตวิญญาณรักสิ่งแวดล้อม “จากวัฒนธรรม สู่นวัตกรรม” ส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาหารและของใช้ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันจากพืชผัก และสิ่งสำคัญคือเพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 2 ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร ยกระดับโภชนาการ ส่งเสริมการเกษตรกรรมที่ยั่งยืน ขององค์การสหประชาชาติ

กิจกรรมที่สอง คือโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ ในแผ่นดิน” เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้ร่วมกับ สภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ น้อมถวายความจงรักภักดี ด้วยการมุ่งมั่นที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอดผ้าพื้นถิ่นไทยซึ่งเป็นศิลปะอันล้ำค่าจากภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อให้ผ้าไทยในพื้นถิ่นได้รับการดูแล สืบทอดให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรม เป็นการเสริมสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนผู้มีอาชีพเกี่ยวข้อง การใช้หรือสวมใส่ผ้าทอพื้นเมืองของไทยจะช่วยสร้างรายได้นับแสนล้านบาทต่อปี เพียงแค่คนไทย ๓๕ ล้านคนใช้ผ้าคนละ ๑๐ เมตร นับว่าเป็นการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง และรัฐบาลเองได้ให้ความสำคัญและมีมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำและกระจายรายไดสู่ชุมชน นำมาซึ่งมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๓ เรื่องมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย เพื่อ “อนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก สร้างรายได้กระจายสู่ชุมชน” ซึ่งปัจจุบันมียอดจำหน่ายประเภทผ้าที่สร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจฐานราก ๑๐๕,๐๐๐ ล้านบาท

กิจกรรมที่สาม เป็นการสร้างความยั่งยืน โดยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนปฏิบัติจนเป็นวิถี จากสภาพปัญหาสิ่งแวดล้อม น้ำท่วม ภัยแล้ง ระบบนิเวศเสื่อมโทรม การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ปัญหาทางสังคม ความยากจน หนี้สิน ตกงาน ถูกเลิกจ้าง ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ตลอดจนระบบการผลิตทางการเกษตรที่มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกับความมั่นคงด้านอาหารและน้ำ กรมฯ จึงได้ดำเนินงานตามโครงการ “พัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล” โดยมุ่งหวังให้พี่น้องประชาชนในชนบทที่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร มีศักยภาพในการบริหารจัดการพื้นที่ให้เหมาะสมอย่างเป็นระบบ เป็นการสร้างชีวิตที่ยั่งยืน โดยเริ่มจากการสร้างการเรียนรู้ให้แก่บุคลากร การพัฒนาและ สร้างพื้นที่ต้นแบบศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน ๑๑ แห่ง ขยายผลร่วมกับภาคีเครือข่าย ๒๒ แห่ง รวมเป็น ๓๓ แห่ง สร้างเครือข่ายผู้นำการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเด” จำนวน ๒๒,๕๐๐ คน ในระยะแรก และมีเป้าหมายพัฒนาครัวเรือนต้นแบบเป็นศูนย์เรียนรู้การพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล ในปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๔ จำนวน ๑๑,๔๑๔ ครัวเรือน รวมถึงดำเนินการโครงการภายใต้กรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ แผนงาน 3.2 ฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” งบประมาณ 4,787,916 ล้านบาท ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชนจัดประชุมเพื่อชี้แจงรายละเอียดแก่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้เกี่ยวข้อง ในวันนี้

ทั้งสามกิจกรรมเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเพื่อไปสู่เป้าหมายที่กรมการพัฒนาชุมชนกำหนด คือ “เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง ชุมชนพึ่งตนเองได้ภายในปี ๒๕๖๕” ทั้งนี้ในการดำเนินการตามภารกิจของกรมการพัฒนาชุมชน เราได้บูรณาการความร่วมมือ และได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากจังหวัดทุกจังหวัด ส่วนราชการทุกระดับ ภาคีเครือข่ายทั้งภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ด้านศาสนา สื่อมวลชน และพี่น้องประชาชน เพื่อให้การดำเนินโครงการเกิดประโยชน์สูงสุดแก่พี่น้องประชาชนได้อย่างแท้จริง” อธิบดี พช. กล่าว