ที่ห้องประชุมโรงเรียนเทศบาล 2 วัดปราสาททอง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี นางสาวบุษยาฏฐ์ มนต์คล้ำ พมจ.สุพรรณบุรี เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการติดตามผลการดำเนินโครงการสร้างเครือข่ายคุ้มครองเด็กในระดับตำบล โดยมี นางอุรัยวรรณ์ แสงแก้ว หน.บ้านพักเด็กและครอบครัว จ.สุพรรณบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
นางอุรัยวรรณ์ แสงแก้ว หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัว จ.สุพรรณบุรี กล่าวว่า กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับ องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (องค์การยูนิเซฟ)ประเทศไทยและมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กได้ดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงานคุ้มครองเด็กระดับตำบลตั้งแต่ปี 2558 – 2559 นำร่องใน 10 จังหวัดประกอบด้วยจังหวัดกาญจนบุรี เชียงใหม่ ตรัง ชลบุรี ชุมพร พะเยาระนอง อุบลราชธานี อุดรธานี และจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งจังหวัดสุพรรณบุรีได้คัดเลือกพื้นที่นำร่อง 4 พื้นที่ ได้แก่ อบต.สนามชัย อบต.หนองโพ อบต.หนองขาม และเทศบาลตำบลสวนแตง ปัจจุบัน จ.สุพรรณบุรี มีศูนย์ชุมชนคุ้มครองเด็กตำบล จำนวน 19 ตำบล โดยเป็นจังหวัดเดียวในประเทศไทย ที่มีศูนย์ชุมชนคุ้มครองเด็กตำบล ครบทุกอำเภอ สามารถให้การสนับสนุนครอบครัวเพื่อให้เลี้ยงดูเด็กได้ตามมาตรฐานขั้นต่ำ และสอดส่องติดตามปัจจัยเสี่ยงหรือปัจจัยก่ออันตรายต่าง ๆ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 เพื่อให้สามารถค้นพบเด็กที่ต้องการรับการสงเคราะห์และคุ้มครองสวัสดิภาพได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง
ด้าน นางสาวบุษยาฏฐ์ มนต์คล้ำ พมจ.สุพรรณบุรี กล่าวว่า โครงการเสริมสร้างเครือข่ายคุ้มครองเด็กในระดับตำบลนอกจากหน่วยงานรัฐแล้ว องค์กรพัฒนาเอกชนและภาคประชาสังคมยังมีส่วนร่วม ในการดำเนินการดังกล่าวด้วย ได้แก่องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (องค์การยูนิเซฟ) ที่สนับสนุนให้เกิดระบบการเฝ้าระวังการคุ้มครองเด็กและระบบการช่วยเหลือเด็กด้วยการเก็บข้อมูลเด็กที่ประสบปัญหาในด้านต่างๆ โดยทำงานร่วมกับบุคลากรในพื้นที่สามารถให้ความช่วยเหลือคุ้มครองเด็กในพื้นที่ของตนเองได้อย่างถูกต้องเหมาะสมตามกระบวนการและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แต่การทำงานส่วนมากยังอยู่ในวงจำกัดเฉพาะบุคลากรในเมืองกรณีเกิดเหตุในระดับอำเภอ หรือระดับตำบลบุคลากรในท้องถิ่นยังมีข้อจำกัดในการตอบสนองต่อปัญหาเด็กที่เกิดขึ้น
ดังนั้นจึงจำเป็นต้องสนับสนุนส่งเสริมให้เกิด เครือข่ายคุ้มครองเด็กในระดับตำบลขึ้นเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถมีรูปแบบวิธีการและแนวทางในการสงเคราะห์และคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 24 ทำให้เกิดการเชื่อมโยงบูรณาการกลไกการคุ้มครองเด็กปราศจากการถูกกระทำความรุนแรงถูกทอดทิ้ง ถูกแสวงหาประโยชน์โดยไม่ชอบหรือมีพฤติกรรมไม่สมควรแก่วัย ทำให้เด็กอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมและเอื้ออำนวยให้เด็กและเยาวชนเติบโตมาเป็นประชากรที่มีคุณภาพเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศชาติให้เจริญมั่นคงต่อไป