จังหวัดนครปฐม เพิ่มประสิทธิภาพในระบบการเฝ้าระวังและค้นหาผู้ป่วยโรคติดเชื้อโรคไวรัสโคโรนา 2019 เชิงรุก (Active case finding) ด้วยรถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัยพร้อมระบบสารสนเทศ ที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้แก่กระทรวงสาธารณสุข เริ่มดำเนินการในกลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่รวมกลุ่มกันจำนวนมากและมีความเสี่ยงในการสัมผัสใกล้ชิด เป้าหมาย 1,000 คน
วันนี้ (17 มีนาคม 2563) ที่กองอำนวยการองค์พระปฐมเจดีย์ นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม เป็นประธานในการจัดกิจกรรมพร้อมด้วย ร้อยตรีพงศธร ศิริสาคร รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 5 นายแพทย์สามารถ ถิระศักดิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครปฐม นายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 จังหวัดราชบุรี นายแพทย์อเนก มุ่งอ้อมกลาง ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง พญ.ดารารัตน์ รัตนรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครปฐม หัวหน้าส่วนราชการ และประชาชนจิตอาสาตรวจคัดกรองค้นหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เชิงรุก โดยใช้ “รถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัยพร้อมระบบสารสนเทศ” ที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ออกให้บริการกับนักเรียน/นักศึกษาในสถาบันการศึกษา 4 แห่ง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวม 1,000 คน เพื่อป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แก่ประชาชนในจังหวัดนครปฐม และถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2563
นายแพทย์สามารถ ถิระศักดิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครปฐม กล่าวว่า การตรวจเฝ้าระวังและค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ ซึ่งการตรวจค้นหาเชิงรุกครั้งนี้ นอกจากจะช่วยฝึกทักษะการใช้รถพระราชทาน และซักซ้อมแผนเผชิญเหตุในการป้องกันควบคุมโรคหากมีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในรอบสองหลังเปิดภาคการศึกษา ยังช่วยสะท้อนให้เห็นว่าการปฏิบัติตนของชาวนครปฐมตามแนวทาง “นครปฐม ๖ วิถีชีวิตใหม่” ที่มีการรณรงค์ให้ร่วมกันปฏิบัตินั้นจะได้ผลจริงหรือไม่ โดยกลุ่มเป้าหมาย ๑,๐๐๐ ราย ประกอบด้วย 1) นักเรียนโรงเรียนสาธิต แห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ๓๐๐ คน 2) นักเรียนโรงเรียนราชินีบูรณะ ๒๐๐ คน 3) นักเรียนโรงเรียนสิรินธร ๒๐๐ คน 4) นักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร นครปฐม ๒๐๐ คน และ 5) ครู ผู้ปกครอง และประชาชน ๑๐๐ คน
สำหรับรถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัยพร้อมระบบสารสนเทศ ภายในห้องเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยจัดเป็นห้องปลอดเชื้อระดับ ๑,๐๐๐ มีระบบปรับอากาศเพื่อควบคุมความเย็น ระบบกรองอากาศจากภายนอกเพื่อให้บริสุทธิ์ ระบบและอุปกรณ์ควบคุมความดันภายในห้องให้เป็นบวกตลอดเวลา รวมทั้งส่วนปฏิบัติการเก็บตัวอย่าง พร้อมระบบฆ่าเชื้อภายในตัวรถหลังปฏิบัติด้วยระบบโอโซน และติดตั้งระบบไมโครโฟนสำหรับเจ้าหน้าที่ติดต่อกับผู้รับบริการได้สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย