สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดตรัง จัดประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันในโรงเรียน ตามแนวพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีจังหวัดตรัง
ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดตรัง นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธานประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันในโรงเรียน ตามแนวพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีจังหวัดตรัง ครั้งที่ 2/82563 นายจรูญศักดิ์ สุขขุม เกษตรและสหกรณ์จังหวัดตรัง เปิดเผยว่า สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดตรังได้ดำเนินการปรับลดโรงเรียนเป้าหมายลงตามแนวทางการดำเนินงานเหลือเพียง 12 โรงเรียน เป็นโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน 2 โรงเรียน และโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตรังเขต 1 และเขต 2 เขตละ 5 โรงเรียน (อำเภอละ 1 โรงเรียน) โดยโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการมีดังนี้ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนสันติราษฎร์ประชาบำรุง โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านหินจอก โรงเรียนบ้านหาดเลา อ.ปะเหลียน โรงเรียนวัดศรีสุวรรณาราม อ.เมืองตรัง โรงเรียนวัดช่องเปี่ยมราษฎร์ อ.นาโยง โรงเรียนวัดชลวาปีวิหาร อ.ย่านตาขาว โรงเรียนบ้านตะเสะ อ.หาดสำราญ โรงเรียนห้วยยอด (กลึงวิทยาคาร) อ.ห้วยยอด โรงเรียนบ้านทอนเหรียน อ.รัษฎา โรงเรียนบ้านนาเมืองเพชร อ.สิเกา โรงเรียนบ้านโคกยาง อ.กันตัง และโรงเรียนบ้านทุ่งยาง อ.วังวิเศษ จ.ตรัง
นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ได้กล่าวว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จังหวัดตรังได้มอบหมายให้สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดตรัง ดำเนินงานโครงการขับเคลื่อนและขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กิจกรรมเกษตรเพื่ออาหารกลางวันในโรงเรียน ตามแนวพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีจังหวัดตรัง งบประมาณ 2,980,500 บาท แต่เมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 จึงถูกปรับลดงบประมาณเพื่อนำไปจัดทำร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย เพื่อนำไปใช้จ่ายในการดำเนินการแก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 โดยเหลือวงเงินของโครงการฯ เพียง 546,500.-บาท ซึ่งในการดำเนินโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนมีอาหารกลางวันที่มีคุณค่าทางโภชนาการ มีอาหารไว้บริโภคตลอดปีการศึกษา โดยใช้ผลผลิตทางการเกษตรที่ผลิตขึ้นภายในโรงเรียนมาประกอบอาหาร และเพื่อให้นักเรียน ครู ตลอดจนผู้ปกครอง ได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัย ส่งเสริมสุขภาพเยาวชนให้มีความแข็งแรงและมีภูมิต้านทานโรค ตลอดจนเพื่อมีแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรที่ดีสู่ชุมชน