ในหลายๆประเทศรวมทั้งประเทศไทยเกิดปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) กำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีความจำเป็นต่อการรักษา แต่ในปัจจุบันมีหลายองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเป็นตัวแทนในการให้ความช่วยเหลือในเรื่องของการจัดหาของบริจาคต่างๆ รวมถึงนโยบายภาครัฐที่มีการจัดสรรเวชภัณฑ์เหล่านี้ไปให้กับโรงพยาบาลต่างๆทั่วประเทศ แต่เนื่องด้วยระบบการบริหารจัดการในปัจจุบัน ทั้งการจัดซื้อจากภาครัฐและการรับบริจาคเวชภัณฑ์ไม่รวมเป็นระบบเดียวกันและแยกการกระจายไปยังโรงพยาบาลหรือสาธารณสุขจังหวัด ก่อให้เกิดการไม่รวมศูนย์และยังไม่มีระบบที่สามารถตรวจสอบข้อมูลการกระจายเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยาที่เห็นทั้งระบบประเทศได้ ส่งผลให้โรงพยาบาลได้รับเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยาที่อาจจะตรงหรือไม่ตรงตามสถานการณ์ของโรคระบาดในพื้นที่ อีกทั้งปัจจัยต่างๆ ของโรงพยาบาล เช่น จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ ขนาดของโรงพยาบาล ต่างก็มีผลต่อการจัดสรรเวชภัณฑ์ทั้งสิ้น
รองศาสตราจารย์ ดร. ดวงพรรณ กริชชาญชัย อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ และหัวหน้าศูนย์การจัดการโลจิติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพ (ศูนย์ LogHealth) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมงานกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ), กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.), สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.), มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, บริษัทไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชัน จํากัด, สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็คแห่งประเทศไทย (GCNT) และเครือข่าย InfoAid ในการจัดทำระบบ Platform กลางเพื่อใช้ในการกระจายเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยาสำหรับ COVID-19 โดยมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาระบบการบริหารจัดการทั้งในส่วนของการจัดซื้อเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยาจากภาครัฐ และการบริหารจัดการของบริจาคเพื่อนำไปให้แก่โรงพยาบาลที่มีความต้องการเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยาได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
สำหรับขั้นตอนของระบบโลจิสติกส์การกระจายเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยาสำหรับ COVID-19 นั้น เป็นระบบ Platform ที่พัฒนาขึ้น ซึ่งประกอบด้วย 6 ระบบ ได้แก่ 1. ระบบการบริจาค (Donation Page) และระบบการรับของเข้าสต๊อก 2. ระบบฐานข้อมูลรายการเวชภัณฑ์มิใช่ยา (Product Catalogue Database) 3. ระบบสต๊อก (Virtual Stock) 4. ระบบวิเคราะห์จับคู่ระหว่างความต้องการและสต๊อก (Matching System) 5. ระบบจัดการความต้องการของฝั่งโรงพยาบาล (Order Management) และ 6. ระบบตรวจติดตามการจัดส่ง (Tracking)
ในส่วนหลักการทำงานของระบบจะเริ่มจากการรับข้อมูลรายการสินค้า (Supply) ที่เป็นของบริจาคที่มาจากผู้ที่ประสงค์จะบริจาคเข้ามาหน้าเว็บไซต์ Donation เพื่อกรอกรายละเอียดการบริจาค ตามรายการสินค้าที่เราพัฒนาและรวบรวมขึ้นในระบบฐานข้อมูลรายการเวชภัณฑ์มิใช่ยา (Product Catalogue Database) และการบริจาคนั้นผู้บริจาคสามารถระบุโรงพยาบาลที่ต้องการบริจาคหรือไม่ระบุก็ได้ กรณีที่ไม่ระบุ ระบบจะจัดสรรให้โดยมีหลักการพิจารณาจากความต้องการเร่งด่วนและปัจจัยต่าง ๆ ของการระบาดและของโรงพยาบาลเอง ซึ่งตรงนี้สามารถมั่นใจได้ว่าของบริจาคจะไปสู่โรงพยาบาลที่ขาดแคลนและตรงกับความต้องการตามสถานการณ์จริง
โดยรายการและยอดทั้งหมดจะถูกตรวจสอบคุณภาพจากหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข และจากนั้นข้อมูลจะไหลเข้าไปสู่ระบบสต๊อก (Virtual Stock) จากนั้นระบบวิเคราะห์จับคู่ระหว่างความต้องการและสต๊อก (Matching System) และจะประมวลผลโดยพิจารณาข้อมูลจาก Virtual Stock และระบบจัดการความต้องการของฝั่งโรงพยาบาล (Order Management) นำมาผ่านหลักการคำนวณ และจัดสรรตามความต้องการของโรงพยาบาล โดยพิจารณาถึงจำนวนผู้ป่วย จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ ปริมาณที่มีอยู่ และอัตราการใช้ เป็นต้น และเมื่อประมวลผลเสร็จสิ้น จะทำให้ได้ใบรายการที่ต้องจัดสรรทั้งหมด ว่าต้องจัดสรรอะไร กระจายไปที่ใด จำนวนเท่าไร ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งไปยังระบบตรวจติดตามการจัดส่ง (Tracking) โดยเชื่อมกับระบบบริหารจัดการของบริษัทไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชัน จํากัด โดยไปรษณีย์จะเป็นผู้ไปรับของบริจาคตามสถานที่ที่ผู้บริจาคระบุและขนส่งไปยังโรงพยาบาลและเมื่อเวชภัณฑ์ได้กระจายไปถึงโรงพยาบาลเป็นที่เรียบร้อย ระบบจะบันทึกและส่งข้อมูล Feedback ให้กับผู้บริจาคและกระทรวงสาธารณสุขได้รับทราบ และผู้บริจาคและกระทรวงสาธารณสุขยังสามารถติดตามสถานะการขนส่งผ่านระบบได้อีกด้วย
ด้วยระบบที่พัฒนาขึ้นจะมาช่วยแก้ปัญหาในเรื่องโรงพยาบาลได้รับของแล้วไม่ตรงตามความต้องการ หรือแม้กระทั่งการกระจุกตัวของสินค้าบริจาค โรงพยาบาลที่ขาดแคลนจริง ๆ ไม่สามารถเข้าถึงของบริจาคเหล่านี้ได้ และระบบยังช่วยทำให้สินค้าไม่ต้องขนส่งเข้ามาที่ส่วนกลางเพื่อบริหารจัดการการขนส่งและกระจายสินค้าอีกครั้ง ส่งผลให้สินค้าสามารถไปถึงโรงพยาบาลที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ผู้รับบริจาคและโรงพยาบาลสามารถตรวจสอบได้ว่าในระบบมีสินค้าอะไรที่ผู้บริจาคเข้ามาในระบบ กำลังกระจายไปที่ไหน และคงเหลืออีกเท่าไหร่ เพื่อให้ของที่ผู้บริจาคสามารถไปถึงโรงพยาบาลที่มีความต้องการตามคุณภาพและความต้องการจริงอย่างโปร่งใส
นอกจากนี้รองศาสตราจารย์ ดร. ดวงพรรณ ได้ฝากข้อคิดไว้ว่า “การแก้ปัญหาของประเทศต้องเกิดจากความร่วมมือร่วมใจกันระดับหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นผู้บริจาคหลาย ๆ ฝ่ายที่บริจาคตรงไปที่โรงพยาบาล ซึ่งอาจจะซ้ำซ้อนกัน การที่จะจัด Demand และ Supply ให้เกิด Supply Chain ขึ้นจริงๆ ต้องเกิดศูนย์กลางของข้อมูล ทั้ง Demand และ Supply ต้องเป็นหนึ่งเดียวกัน จึงเกิด Supply Chain ได้ สำหรับผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนบริจาคได้ที่ เว็บไซต์ : donate.covid19.moph.go.th หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ LogHealth คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โทรศัพท์ 085-8195219 , 087-8214076, 081-9385343 และ 098-2287914 อีเมล์ : oploghealth@mahidol.ac.th Facebook : facebook.com/ LogHealthForCovid 19 และที่สำคัญ ทางโครงการไม่ประสงค์รับบริจาคเงิน”