พช. ไม่เดินเดี่ยว เน้นทำงานแบบมีส่วนร่วม

พช. ไม่เดินเดี่ยว เน้นทำงานแบบมีส่วนร่วม

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน พบปะให้กำลังใจผู้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการการดำเนินงานตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จัดขึ้นที่โรงแรมเอบีน่าเฮ้าส์ กรุงเทพมหานคร

พช. ไม่เดินเดี่ยว เน้นทำงานแบบมีส่วนร่วม

โดยมีหัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน หัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน หัวหน้าฝ่ายอำนวยการ และข้าราชการทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั้ง 76 จังหวัด พร้อมทั้งกรุณามอบแนวทางการขับเคลื่อนงานการพัฒนาชุมชน ความว่า

อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน น้อมนำพระราโชบาย “สืบสาน รักษา ต่อยอด ศาสตร์พระราชา” ไปสู่การปฏิบัติ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและยั่งยืน ทั้งกับข้าราชการในองค์กรและประชาชน โดยขอให้ข้าราชการ พช. ได้น้อมนำเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตและการดำเนินงาน เพื่อพาตนเองไปสู่ความสุขที่ยั่งยืน

การวางเป้าหมายสู่ความสำเร็จในการดำเนินงาน และการแระเมินประสิทธิภาพการทำงานหรือ KPI เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่มีความสำคัญ มีไว้เพื่อวัดและตรวจสอบการทำงาน แต่ในสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การทำงานและการพัฒนาตนเองอย่างเต็มกำลังเต็มศักยภาพ เพราะการทำงานในหน้าที่ไม่ใช่เพียงเพื่อเลี้ยงชีพตนเอง อาชีพ “ข้าราชการ” คือ อาชีพที่ต้องทำเพื่อคนอื่นมากกว่าการทำเพื่อตนเอง โดยทำตามบทบาทภารกิจของแต่ละองค์กร การมีทัศนคติ (Attitude) ที่ดีต่องานจะนำมาซึ่งผลสำเร็จที่ดีของงาน

การทำงานแต่ละองค์กรนั้น มีการกำหนดเป้าหมาย/วิสัยทัศน์ร่วมกัน และเมื่อกำหนดวิสัยทัศน์ขึ้นหมายขึ้นมาร่วมกันแล้วจึงต้องทำให้สำเร็จ ดังเช่น วิสัยทัศน์กรมการพัฒนาชุมชน ที่ว่า “เศรษฐกิจฐานรากมั่นคงและชุมชนพึ่งตนเองได้ ภายในปี 2565” และในปีงบประมาณ 2563 นี้ กรมฯ จะส่งเสริมให้ 70% ของทุกครัวเรือนปลูกพืชผักสวนครัวรั้วกินได้ ดูแลรักษาความสะอาดของบ้าน บริหารจัดการขยะในครัวเรือนเพื่อช่วยลดโลกร้อน และการนำหลักศีลธรรมมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตด้วยการดูแลให้สมาชิกในครัวเรือนได้เข้าร่วมในศาสนกิจเป็นประจำ เพื่อให้ครอบครัวเกิดความเข้มแข็ง มีอาหารปลอดภัยรับประทาน ทั้งยังช่วยลดรายจ่าย และรักษาสิ่งแวดล้อมให้อยู่กับชุมชนอย่างยั่งยืน

“ร่วมทำงานกับรัฐบาลประสานประสม” เนื้อเพลงท่อนหนึ่งในเพลงมาร์ชพัฒนาชุมชน แสดงให้เห็นถึงการสร้างความร่วมมือในการทำงาน และเป็นอีกหนึ่งแนวทางหนุนเสริมพลังใจ เพื่อให้คนพัฒนาชุมชนเกิดความตระหนักร่วมกันในการสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการพัฒนาชุมชนสู่ความยั่งยืน ด้วยกระบวนการทำงานโดยยึดหลักการพัฒนาชุมชน ให้ชาวบ้านพึ่งตนเองได้ และเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนเป็นผู้ช่วยเหลือ กระตุ้น ส่งเสริมให้มีการพัฒนา จนสามารถพึ่งพาตนเองได้ เน้นประสานความร่วมมือระหว่างพัฒนาชุมชน ปกครอง และท้องถิ่น เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนให้ประสบผลสำเร็จ

อธิบดี พช. เน้นย้ำการดำเนินงานด้วยการประสานกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น แสดงให้เห็นถึงการทำงานให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมนั้น นอกจาการประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วนแล้ว การขอความอนุเคราะห์ผู้นำในพื้นที่ตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัด ตลอดจนนายอำเภอ เพื่อเป็นผู้นำทุกภาคส่วนทั้งนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมทั้งทุกส่วนราชการและพี่น้องประชาชนเข้าร่วม โดยผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอและข้าราชการ พช. ต้องทำตัวให้เป็นต้นแบบ คน พช. ต้องช่วยทำให้ ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอเข้าใจและนำการขับเคลื่อนให้ได้งานจึงจะประสบความสำเร็จ

“การประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการสร้างการรับรู้” เป็นอีกหนึ่งบทบาทในการผลักดันและส่งเสริมการพัฒนาให้เกิดความเข้าใจและตระหนักในประโยชน์ที่ได้รับ เมื่อทุกแรงของนักพัฒนาสร้างภาพลักษณ์การรับรู้ที่ดีของการพัฒนาทั้งการปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ การบริหารจัดการขยะ ฯลฯ ที่เกิดผลเป็นรูปธรรม แสดงผลต่อประชาชนและบุคคลภายนอก ประชาชนก็จะเกิดการตื่นตัว เห็นถึงประโยชน์และเกิดการพัฒนาตนเอง




ในส่วนของการขับเคลื่อนการพัฒนาตามแนวทาง “โคก หนอง นา โมเดล” ทางกรมฯ จะจัดให้มีการชี้แจงการดำเนินงานอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง

การสนับสนุน “การสืบสาน อนุรักษ์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” เพื่อเป็นการสนับสนุน ส่งเสริม อนุรักษ์อาชีพทอผ้าให้คงอยู่สืบไป ด้วยการรณรงค์เชิญชวนข้าราชการ กรมฯ หน่วยงานอื่นๆ ตลอดจนประชาชนทั่วไป สวมใส่ผ้าไทยในชีวิตประจำวัน

การขับเคลื่อนงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เป็นแนวทางการสร้างวินัยทางการเงินให้กับประชาชน ด้วยการให้คำปรึกษา แนะนำ และส่งเสริมให้สมาชิกกองทุนฯ มีวินัยในการบริหารจัดการให้เป็นไปตามระเบียบ

สุดท้ายนี้ อพช. ฝากทัศนคติที่ดี ที่เป็นบวก จะส่งผลทางที่ดีต่อการดำเนินชีวิต และขอให้ทบทวนว่า “เรา (ข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชน) มีชีวิตต่อไปเพื่ออะไร”

กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย