กรมสอบสวนคดีพิเศษ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จังหวัดนครปฐม ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ
วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 ห้องประชุมอาคารบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทน อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล คณบดี และผู้บริหาร ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือทางวิชาการ การวิจัย และพัฒนานวัตกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติงานสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ โดยนายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ รองอธิบดี DSI กล่าวว่า การร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว เป็นการยกระดับความร่วมมือที่มีอยู่ให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น ซึ่งเกิดจากทั้งสองฝ่ายได้ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นของการพัฒนาองค์ความรู้ เครื่องมืออุปกรณ์ และระบบสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพสูง ให้เกิดเป็นนวัตกรรมการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ ที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกันเพื่อป้องกันปราบปรามอาชญากรรมพิเศษ อันจะช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพในการทำงานให้กับ DSI ในฐานะที่พึ่งของประชาชน ให้สามารถผดุงความยุติธรรมและความสงบสุขให้สังคมไทย
ด้านศาสตราจารย์ นายแพทย์ บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทน อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากการที่อาชญากรรมพิเศษ เป็นคดีที่มีความยุ่งยากซับซ้อน ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสังคม เศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ความรู้และวิทยาการหลากหลายแขนง ในการดำเนินการป้องกันและปราบปราม ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะเป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ ที่มีความพร้อมและศักยภาพทางด้านวิชาการเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับชาติและนานาชาติ มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถทางวิชาการ ในหลากหลายสาขาวิชาจำนวนมาก อีกทั้งมีห้องปฏิบัติการด้านวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ ที่เพียบพร้อมด้วยเครื่องมืออุปกรณ์ ที่มีมาตรฐานและทันสมัย จึงได้ร่วมเสริมพลังทางวิชาการของศาสตร์ต่างๆ เพื่อประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษของ DSI ต่อไป
สำหรับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ ครอบคลุมถึงการร่วมกันพัฒนาการเรียนการสอน การวิจัย และพัฒนานวัตกรรม สำหรับการปฏิบัติงานสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ รวมทั้งร่วมกันพัฒนาบุคลากร เสริมสร้างศักยภาพในการปฏิบัติงาน แลกเปลี่ยนบุคลากรและทรัพยากรระหว่างกัน รวมถึงขยายเครือข่ายความร่วมมือไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนร่วมกันส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา องค์ความรู้ เครื่องมืออุปกรณ์และระบบสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพสูง ในการสนับสนุนการปฏิบัติงานสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ และเป็นการยกระดับกระบวนการยุติธรรมไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล