อธิบดี พช. ย้ำ กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีต้องยั่งยืน เพื่อสตรีทั่วประเทศ Women Change for Good By Thai Women EMpowerment Funds

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานพิธีเปิด โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพิ่มประสิทธิภาพบุคลากรในการบริหารงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ประจำปึงบประมาณ พ.ศ. 2563 เพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ทักษะ ความสามารถสอดคล้องกับสถานการณ์ และวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากร ให้มีความรู้ ความสามารถ ความเข้าใจ และมีทักษะการปฏิบัติงานที่จำเป็นเกี่ยวกับงานกองทุนฯ กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หลักเกณฑ์ แนวทางปฏิบัติต่าง ๆ ตลอดจนเทคโนโลยีสารสนเทศ และการเชื่อมโยงเครือข่ายการประสานงาน การปฏิบัติงานในพื้นที่ได้อย่างชัดเจนและถูกต้อง สามารถนำไปสู่การปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชน หัวหน้ากลุ่มงาน/นักวิชาการพัฒนาชุมชน ที่รับผิดชอบงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีระดับจังหวัดและกรุงเทพมหานคร และพนักงานกองทุนระดับจังหวัด (ทุกตำแหน่ง) พนักงานกองทุนส่วนกลาง (ทุกตำแหน่ง) ลูกจ้างชั่วคราว และพนักงานจ้างเหมาบริการ และเจ้าหน้าที่โครงการ รวมทั้งสิ้น 296 คน เข้ารับการอบรม จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 – 18 มกราคม 2563 ณ โรงแรม ทีเค พาเลช แอนด์ คอนเวนชั่น ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร




อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เป็นกองทุนที่ให้โอกาสกับสตรีในการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ มีรายได้ช่วยจุนเจือครอบครัว หรือช่วยรับผิดชอบครอบครัว ความเป็นอยู่ คุณภาพชีวิตก็ดีขึ้น ทำให้ชุมชนให้เข้มแข็ง อย่างยั่งยืน กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี คือกองทุนที่เกิดขึ้นเพื่อให้สตรีเขียนโครงการประกอบอาชีพ ให้ได้เข้าถึงแหล่งทุนหรือเงินยืมดอกเบี้ยต่ำ ในวงเงินสูงสุดโครงการละ 200,000 บาท เพื่อนำเงินไปลงทุนประกอบอาชีพ หรือพัฒนาอาชีพผ่านการรวมกลุ่มของสตรี โดยมีหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกขน ภาคประชาสังคม ให้การสนับสนุน เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งที่มาจากภายในของกลุ่มสตรีเอง โดยแนวทางการขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเริ่มต้นจากความต้องการของสตรี บริหารจัดการด้วยสตรี ใช้มาตรการทางสังคมในการขับเคลื่อน และมีสตรี คือกำลังสำคัญ เพื่อเป็นส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงหรือนำสังคม ดังนั้นสิ่งสำคัญต่อการจะมีอยู่ต่อไปของกองทุน ต้องผนึกกำลังในสามส่วน ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนที่ดูแลเรื่องานกองทุนฯ คณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีทุกระดับ ตั้งแต่ส่วนกลาง จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน และสุดท้ายคือมวลสมาชิกสตรี สามส่วนนี้ต้องคิดได้และมีใจเมตตา อารี รักสามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลกันดุจญาติมิตร มวลสมาชิกสตรีต้องสร้างเครือข่ายซึ่งกันและกันที่เหนี่ยวแน่น และมีเจ้าหน้าที่/คณะกรรมการฯ ทำหน้าที่ในการสนับสนุน ส่งเสริม ให้คำแนะนำในการช่วยพัฒนาคน พัฒนางาน พัฒนาอาชีพ และสิ่งสำคัญเดินตามกฎระเบียบ กฏหมาย ให้ถูกต้อง เพราะเป็นกองทุนที่เกี่ยวกับเรื่องเงิน ถ้าทำถูกต้องตามกฎระเบียบ ก็ไม่ต้องกลัว ดังนั้นจึงต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในเรื่องกฎหมายให้ถ่องแท้ จะทำให้ไม่ผิดกฎหมาย และช่วยเหลือสตรีให้มีอาชีพ มีงานทำ มีเงินทุน นำมาซึ่งรายได้ และอีกหนึ่งประการที่ลืมไม่ได้ คือการต้องมีใจ ใจที่เห็นถึงประโยชน์ และมีคุณธรรมที่ดี จะช่วยให้สมาชิกทุกคน หรือสมาชิกส่วนใหญ่ช่วยเหลือกัน บอกกล่าวให้กำลังใจกัน สุดท้ายจะนำมาซึ่งการใช้หนี้ตามระยะเวลาที่กำหนด ไม่เกิดหนี้เสียมาก กองทุนฯก็จะอยู่ได้ด้วยตัวเอง นำมาซึ่งการเป็นกองทุนแห่งลมหายใจของสตรีที่ยั่งยืน ต่อยอดไปยังทุกเพศทุกวัย ได้ใช้ประโยชน์สูงสุดจากกองทุนนี้

ในส่วนของบทบาทหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทุกคน คือ ต้องช่วยกลั่นกรองกับคณะกรรมการฯ ทุกระดับ ว่าโครงการที่สตรีเสนอขอกู้มามีโอกาสสำเร็จอย่างไร ต้องทำอย่างไรถึงจะเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ ได้อย่างยั่งยืน เมื่อให้กู้แล้วต้องมีการติดตาม คอยเป็นพี่เลี้ยง หรือเพื่อนคู่คิด ไปดูไปช่วยให้แต่ละโครงการมีแนวทางพึ่งพาตนเองได้ และที่สำคัญคือมีกำไรมาใช้จ่ายและส่งคืนกองทุนได้ตามกำหนด

สถานีข่าว พช. CNS รายงาน