“สนธิรัตน์”เร่งแจ้งเกิดโรงไฟฟ้าชุมชน Quick Win ลงพื้นที่ จ.อุบลราชธานี ขับเคลื่อนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนภาคอีสาน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เร่งขับเคลื่อนนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากให้เป็นรูปธรรม ลงพื้นที่ จ.อุบลราชธานี เพื่อตรวจติดตามความพร้อมของการดำเนินการให้เกิดโรงไฟฟ้าชุมชน ในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม และเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าของกลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล ที่พร้อมปรับปรุงระบบรองรับพืชพลังงานหญ้าเนเปียร์เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ตามกรอบนโยบายเร่งด่วน Quick Win
เมื่อวันนี้ 4 ม.ค. 63 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย นายสุรพร ดนัยตั้งตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพลังงาน นายอนุรุท นาคาศัย เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายวัชระ กรรณิการ์ โฆษกกระทรวงพลังงาน นายสมบูรณ์ หน่อแก้ว รองปลัดกระทรวงพลังงาน นายยงยุทธ จันทรโรทัย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน ลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ตรวจติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนผลักดันนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างครอบคลุมจังหวัดยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี
โดยมี นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี นายสิทธิชัย โควสุรัตน์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุบลราชธานีและประธานสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นายธนสิทธิ์ โควสุรัตน์ ส.ส. จังหวัดอุบลราชธานี พรรคพลังประชารัฐ นายสุทธิชัย จรูญเนตร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรีปฏิบัติงานที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายธีระทัศน์ เตียวเจริญโสภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรีปฏิบัติงานที่กระทรวงมหาดไทย นายเดชพล เลิศสุวรรณโรจน์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัทอุบลไอโอเอทานอล จำกัด และ พลังงานจังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างประกอบด้วย จังหวัดยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ร่วมให้การต้อนรับ
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีในครั้งนี้ มีภารกิจสำคัญคือ การประชุมหารือร่วมกับ 4 จังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ได้แก่ จังหวัดยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี และติดตามการดำเนินงานของกระทรวงพลังงานตามนโยบายที่ได้มอบหมายไว้ อาทิ โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก สถานีพลังงานชุมชน การของบประมาณกองทุนเพื่ออนุรักษ์พลังงานเพื่อการแก้ปัญหาภัยแล้ง เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง รวมถึงการติดตามพื้นที่ที่ต้องการความมั่นคงด้านไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งภาพรวมขณะนี้ อยู่ระหว่างการเร่งขับเคลื่อนให้เกิดผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมตามนโยบายที่ได้มอบหมายไว้ โดยในส่วนของโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนนั้น ได้ผ่านความเห็นชอบเกี่ยวกับเงื่อนไขหลักเกณฑ์การจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.62 ที่ผ่านมา ในปี 2563 นี้ จะเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนของผู้ผลิตรายเล็กมาก (VSPP) ในรูปแบบ FiT จำนวนรวม 700 เมกะวัตต์ (MW) โดยให้ความสำคัญกับโรงไฟฟ้า Quick Win ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จหรือใกล้จะแล้วเสร็จเข้าร่วมโครงการก่อน ซึ่งโครงการจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในปี 2563 นี้
สำหรับในการร่วมทุนนั้นได้วางหลักเกณฑ์ไว้โดยให้ความสำคัญไปที่ประโยชน์ต่อชุมชนเป็นหลัก โดยผู้เสนอโครงการที่อาจเป็นภาคเอกชนหรืออาจร่วมกับองค์กรของรัฐ จะถือหุ้นในโครงการได้ 60% – 90% ส่วนกลุ่มวิสาหกิจชุมชน 10% – 40% โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 200 ครัวเรือน และยังมีการแบ่งส่วนแบ่งรายได้ตามหลักเกณฑ์ รวมทั้งต้องมีแผนจัดหาเชื้อเพลิง รับซื้อเชื้อเพลิงราคาประกันกับวิสาหกิจชุมชน แบบคอนแทร็ก ฟาร์มมิ่ง (Contract Farming) ด้วย
“เป้าหมายหลักของโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนคือการแก้ปัญหาเศรษฐกิจฐานรากเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วยนโยบายพลังงาน ซึ่งการขับเคลื่อนโรงไฟฟ้าชุมชนจะทำให้เกิดเม็ดเงินลงทุนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจกว่า 7 หมื่นล้านบาท ก่อเกิดการสร้างงานสร้างอาชีพ และรายได้ให้ชุมชนได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ชุมชนรอบโรงไฟฟ้ายังจะได้รับส่วนลดค่าไฟฟ้าอีกด้วย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว โดยการลงพื้นที่จังหวัดอุบลในครั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและคณะได้เข้าเยี่ยมชมโครงการด้านพลังงานทดแทนของบริษัท อุบลไบโอเอทานอล จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีการผลิตเอทานอล ผลิตก๊าซชีวภาพ และโรงไฟฟ้าขนาด 5.6 MW เพื่อดูการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล เนื่องจากเป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้าที่แสดงความสนใจเข้าร่วมโครงการตามกรอบเวลาของนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเร่งด่วน Quick Win โดยโรงงานมีระบบผลิตไบโอก๊าซที่ผลิตจากการย่อยกากมันสำปะหลังที่ได้รับจากโรงแป้งมันฯ สามารถปรับปรุงระบบรองรับหญ้าเนเปียร์ได้ภายใน 6 เดือน โดยมีกากมันสำปะหลังซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการผลิตเอทานอลนำมาใช้เป็นวัตถุดิบเสริมประสิทธิภาพในการผลิตก๊าซชีวภาพ และมีโรงไฟฟ้าขนาด 5.6 MW ที่มีสายส่งขนาด 115 kV และ 22 kV พร้อมรับการจำหน่ายไฟฟ้า
ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทฯ ยังมีสมาชิกกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรที่มีพื้นที่เกษตรกรรมอยู่บริเวณรอบโรงงาน มีความต้องการและมีความพร้อมในการเข้าร่วมถือหุ้นกับโรงไฟฟ้า โดยกลุ่มบริษัทฯ มีการประกันราคาและรับซื้อผลผลิตมันสำปะหลังที่แน่นอนกับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ มีระบบท่อส่ง และกระจายน้ำให้ชุมชน สามารถลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตในการปลูกหญ้าเนเปียร์ และมีโครงการสนับสนุนกากมันสำปะหลัง เพื่อเป็นสารปรับปรุงบำรุงดิน รวมทั้ง กลุ่มบริษัทฯ มีที่ดินปลูกหญ้าเนเปียร์มากกว่า 2,000 ไร่ มีประสบการณ์ในการปลูก และจัดการแปลงหญ้าเนเปียร์มากว่า 5 ปี มีผลผลิตสูงเฉลี่ยประมาณ 10 ตันต่อไร่ สามารถเป็นแปลงต้นแบบสาธิตให้กลุ่มเกษตรกรได้มาศึกษาเรียนรู้ #EnergyForAll