นโยบายประเทศไทย 4.0 เป็นแนวคิดที่จะปรับเปลี่ยนประเทศ เพื่อให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง อันหมายถึงประเทศกำลังพัฒนา ไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงและกลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว แนวทางในการดำเนินการของแผนนโยบายเป็นแผนระยะยาว 20 ปี เพื่อนำประเทศไปสู่ความทันสมัย สอดคล้องกับยุคดิจิทัลที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของประชาชนทั่วไป การเปลี่ยนแปลงประเทศสู่ยุค 4.0 ส่งผลต่อทุกภาคส่วนรวมถึงอาชีวศึกษาไทย ซึ่งในปัจจุบันทรัพยากรบุคคลที่เป็นที่ต้องการของตลาดในภาคอุตสาหกรรมและสถานประกอบการต่างๆ ก็คือ เด็กช่าง ที่มีทักษะในการทำงาน มีทักษะสมรรถนะอาชีพ มีคุณธรรม และจะต้องมีความรู้ด้านเทคโนโลยีให้เข้ากับยุคดิจิทัลอีกด้วย ดังนั้น อาชีวศึกษาต้องปรับตนเองให้เป็นอาชีวศึกษา 4.0 ที่ผลิตคนยุคดิจิทัลเข้าสู่การควบคุมเครื่องจักรและสร้างสรรค์ประดิษฐ์กรรม อันนำไปสู่ผลิตภัณฑ์จากความคิดสร้างสรรค์ ผลิตคนที่จะไปประกอบอาชีพอิสระและเป็นผู้ประกอบการสมัยใหม่ที่มีทักษะทำมาหากินได้ด้วยตนเอง
ในส่วนของอุตสาหกรรมก็จะปรับเปลี่ยนเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ที่จะพึ่งพาเครื่องจักรและระบบควบคุมอัตโนมัติเข้ามาแทนแรงงานคน เปลี่ยนการผลิตที่เน้นการเพิ่มผลผลิตจำนวนมากโดยการใช้หุ่นยนต์เข้ามาแทนที่ในกระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม คนจะเปลี่ยนไปเป็นผู้ควบคุมเครื่องจักร เปลี่ยนไปเป็นผู้คิดค้นและกำหนดวิธีการทำงานให้เครื่องจักร จึงต้องใช้คนที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพสูงเข้ามาแทนที่แรงงานฝีมือแบบเดิม ซึ่งสภาอุตสาหกรรมฯ และสถาบันฯ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาการศึกษา จึงได้มีพิธีลงนามความร่วมมือนี้ ซึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาตลาดแรงงาน พัฒนาภาคอุตสาหกรรม และส่งผลต่อเนื่องไปยังการขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นอีกด้วย
ด้าน ดร.อินดา แตงอ่อน ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 4 กล่าวเพิ่มเติมว่า นายสมภพ ธีระสานต์ประธานคณะอนุกรรมการด้านวิชาการของสถาบัน การอาชีวศึกษาภาคกลาง 4 ได้เสนอแนวคิดในการทำความร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมเพื่อร่วมกับสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 4 ในการจัดการศึกษา พัฒนานวัตกรรม และงานวิจัยร่วมกัน สถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 4 จึงได้จัดทำโครงการ “การลงนามความร่วมมือทางวิชาการเพื่อจัดการศึกษาระหว่างสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 4 กับสภาอุตสาหกรรมภาคกลางตอนล่าง 1 และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครปฐม” ขึ้น
โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อลงนามความร่วมมือทางด้านการจัดการศึกษากับกลุ่ม สภาอุตสาหกรรมภาคกลางตอนล่าง 1 และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครปฐม
อีกทั้งยังเป็นการสร้างและเพิ่มพูนองค์ความรู้ ความเข้าใจและวิสัยทัศน์ ด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่สำคัญคือ สามารถผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ ความสามารถ มีคุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณวิชาชีพ และกิจนิสัยรวมถึงมีสมรรถนะที่เหมาะสมในการทำงานเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ และเทคโนโลยีระหว่างสถานศึกษาในสังกัดสถาบัน และสถานประกอบการ ซึ่งถือเป็นการสร้างเครือข่ายทางวิชาการในการจัดการศึกษา