วันที่ 9 ธันวาคม 2560 เวลา 14.00 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ประจำปีการศึกษา 2559 เป็นวันที่สอง ณ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดนครปฐม ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครปฐม นายกสภามหาวิทยาลัยศิลปากร กรรมการสภามหาวิทยาลัย อธิการบดี รองอธิการบดี คณบดี ผู้อำนวยการศูนย์ สถาบัน สำนัก อาจารย์ ข้าราชการ และนักศึกษา เฝ้าฯ รับเสด็จ
สำหรับในปีนี้ มีผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ระดับปริญญาโท และปริญญาเอก จำนวน 5,268 คน เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2560 จำนวน 2,548 คน และในวันนี้ ( 9 ธันวาคม 2560) จำนวน 2,720 คน มีบัณฑิตเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรจากคณะวิชาต่างๆ ประกอบด้วย 5 คณะวิชา ได้แก่ คณะวิศวกรรมศาตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม คณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาการจัดการ วิทยาลัยนานาชาติ และบัณฑิตวิทยาลัย รวมทั้งนักศึกษาเข้ารับพระราชทาน “ทุนภูมิพล” จำนวน 28 คน ประกอบด้วย ประเภทรางวัลเรียนดี จำนวน 14 คน และประเภทส่งเสริมการศึกษา จำนวน 14 คน
โอกาสนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราโชวาทแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ความว่า “ความเป็นบัณฑิตแท้หมายรู้ได้ด้วยคุณสมบัติหลายอย่าง ที่สำคัญคือสติรู้ตัวกับปัญญารู้คิด สติกับปัญญานี้ หากฝึกฝนสร้างเสริมให้เพิ่มพูนกล้าแข็งอยู่เสมอ ก็จะมีกำลังขึ้นเรียกว่าเป็นกำลังสติ และกำลังปัญญา กำลังทั้งสองเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการประกอบกิจการงาน เพราะเป็นพลังเครื่องเกื้อกูลการปฏิบัติงานและการต่อสู้ฝ่าฟันอุปสรรคข้อขัดข้องต่างๆ กล่าวคือ กำลังสติ เป็นเครื่องช่วยให้บุคคลมีความยั้งคิด มีความรอบคอบและละเอียดถี่ถ้วนไม่ประมาทพลั้งเผลอ ส่วนกำลังปัญญา เป็นเครื่องช่วยพิจารณาหาแนวทางปฏิบัติงาน และหาวิธีการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้น โดยมีกำลังสติคอยควบคุมประคับประคองให้เป็นไปอย่างถูกต้องชอบธรรม จึงขอให้บัณฑิตทุกคนหมั่นฝึกฝนพัฒนาสติและปัญญาของตน จนก่อเกิดเป็นกำลังอันกล้าแข็ง ที่จะสามารถนำไปใช้ให้บังเกิดประโยชน์แก่การประกอบกิจการงานได้อย่างเต็มที่ แต่ละคนจึงจะได้ชื่อว่าเป็นบัณฑิตแท้ คือเป็นผู้สามารถสร้างสรรค์ความเจริญมั่นคงที่แท้ให้แก่ตนเองและชาติบ้านเมือง”