นครปฐม ผอ.รพ.นฐ. เป็นประธานเปิดประชุมเชิงปฏิบัติการการพัฒนา ศักยภาพบุคลากรในเครือข่ายในการให้การดูแลแบบประคับประคองแก่ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง เขตสุขภาพที่ 5

วันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2562 ณ ห้องประชุมจตุภัทร ชั้น 4 โรงพยาบาลนครปฐม นายแพทย์ วีรศักดิ์ ครองลาภเจริญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครปฐม เป็นประธานกล่าวเปิดประชุมเชิงปฏิบัติการการพัฒนา ศักยภาพบุคลากรในเครือข่ายในการให้การดูแลแบบประคับประคองแก่ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง เขตสุขภาพที่ 5 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-27 สิงหาคม พ.ศ.2562 และนายแพทย์มานัส รัตนโชคธรณี ประธาน Service Plan สาขา ไต เขตสุขภาพที่ 5 กล่าวรายงาน

จากการดำเนินของโรคไตเรื้อรังเข้าสู่ระยะสุดท้ายของโรค ผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้ารับการบำบัดทดแทนไต บางรายปฏิเสธการบำบัดทดแทนไต โดยเลือกการดูแลแบบประคับประคอง ซึ่งในระยะสุดท้ายของโรคผู้ป่วยจะถูกคุกคามจากอาการรบกวนต่างๆ มีอาการและอาการแสดงทางคลินิกเปลี่ยนแปลงไปในทางเลวลง ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย และครอบครัว มีความทุกข์ ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ ต้องการการดูแลแบบประคับประคอง ( Palliative care) เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดำรงชีวิตในสภาวะที่มีความเจ็บป่วยคุกคามได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต โดยอาศัยการดูแลจากสหสาขาวิชาชีพ ผู้ป่วย ญาติ และครอบครัว ร่วมกัน ค้นหาปัญหาบรรเทาความทุกข์ ทรมาน และการรักษาภาวะเจ็บป่วย รวมปัญหาด้านอื่นๆ ทั้งร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ อย่างเข้าใจ เข้าถึงความต้องการของผู้ป่วยและครอบครัวอย่างแท้จริง

วัตถุประสงค์ของโครงการ
1.เพื่อขับเคลื่อนระบบบริการสุขภาพสาขาไต และสาขาการดูแลแบบประคับประคอง เขตสุขภาพที่ 5
2.เพื่อให้ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายเข้าถึงระบบการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองได้รับการดูแลต่อเนื่อง
3.เพื่อส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เรียนรู้การดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังในระยะท้ายและบทเรียนการทำงานการดูแลแบบประคับประคอง

โดยมีกลุ่มเป้าหมาย 290 คน ประกอบด้วย คณะทำงาน พัฒนาระบบบริหารสุขภาพสาขาไต และสาขาการดูแลแบบประคับประคองเครือข่ายผู้ให้บริการสุขภาพ สาขาไต และสาขาการดูแลแบบประคับประคอง เขตสุขภาพที่ 5 ประกอบด้วยอายุรแพทย์โรคไต ผู้รับผิดชอบงานโรคไตเรื้อรัง แพทย์ผู้รับผิดชอบการดูแลแบบประคับประคอง เภสัชกร พยาบาล ผู้รับผิดชอบงาน CKD พยาบาลผู้รับผิดชอบงาน NCD พยาบาลผู้รับผิดชอบงาน palliative ผู้รับผิดชอบงาน HHC นักโภชนาการ โรงพยาบาลละ 3 คน และตัวแทนจากสำนักงานสาธารณสุข