กระทรวงอุตสาหกรรม กำหนด จ.นครปฐมเป็น 1 ใน 15 จังหวัด ขับเคลื่อนพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อมในพื้นที่
นายสมคิด ตัณฑศรีสุข อุตสาหกรรมจังหวัดนครปฐม เปิดเผยว่า การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมในระยะที่ผ่านมา ก่อให้เกิดปัญหาขึ้นทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยและอาชีวอนามัยต่อสังคม โดยปัญหาดังกล่าว บางพื้นที่ประสบปัญหาน้ำเน่าเสีย อากาศเป็นพิษ ส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ บางพื้นที่ยังมีปัญหาเกี่ยวกับประชากรแฝงจำนวนมาก ส่งผลต่อการใช้ทรัพยากรเพื่อการอุปโภค บริโภค และสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเกินกว่าศักยภาพของพื้นที่ ที่จะรองรับได้ทัน ก่อให้เกิดปัญหาการเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
จากปัญหาที่กล่าวมา หลายประเทศได้คิดค้นวิธีการในการแก้ปัญหา โดยนำหลักการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศมาใช้ ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐประชาชนจีน และประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป โดยแต่ละประเทศมีแนวทางการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่แตกต่างกันออกไป แล้วแต่สภาพปัญหาและบริบทของพื้นที่ เช่น สหรัฐอเมริกา เน้นการลดปริมาณของเสียโดยใช้หลัก 3Rs (Reduce Reuse Recycle) การใช้เทคโนโลยีผลิตพลังงานชีวภาพจากของเสียและวัสดุเหลือใช้ (Waste to Energy) แคนาดาใช้แนวคิดประสิทธิภาพเชิงนิเวศ (Eco-efficiency) สวีเดนนำของเสียกลับมาใช้ประโยชน์ในการผลิตไฟฟ้าและให้พลังงานแก่เครื่องทำความร้อน ญี่ปุ่นเน้นการกระตุ้นการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่และการจัดการของเสียให้เป็นศูนย์ (Zero Waste) โดยแลกเปลี่ยนของเสียอุตสาหกรรมหรือ Waste Exchange ตามหลัก 3Rs
การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในประเทศไทย ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง โดยมีบทเรียนจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ทำให้ภาคอุตสาหกรรมหันมาให้ความสำคัญกับการประกอบกิจการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมน้อยที่สุด หรือไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเลย
รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อ 25 สิงหาคม 2552 ได้เห็นชอบร่วมกับมติคณะกรรมการร่วมภาคเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.)ในหลักการข้อเสนอของการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช) พิจารณาทบทวนการกิจของคณะกรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝังทะเลภาคใต้ โดยผนวกรวมข้อเสนอของเอกชนเรื่องการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมและชุมชนอย่างยั่งยืน ครอบคลุมมิติการพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งแวดล้อม และชุมชน
ทั้งนี้ กรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ได้ให้ความสำคัญการสร้างความสามารถในการแข่งขัน และการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและพัฒนามุ่งสู่การเป็นสังคมสีเขียว โดยได้กำหนดแนวทางการพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมให้เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของพื้นที่ควบคู่กับการให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของประชาชนและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ เพื่อให้อุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกันกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน
กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นหน่วยงานดำเนินงานหลักในการดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ซึ่งได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายจำนวน 15 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดระยอง จังหวัดชลบุรี จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดปทุมธานี จังหวัดนครปฐม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดสระบุรี จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดราชบุรี จังหวัดขอนแก่น จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดสงขลา และเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดตาก จังหวัดตราด จังหวัดมุกดาหาร และจังหวัดสระแก้ว โดยได้ศึกษาและพัฒนารูปแบบของการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศให้เหมาะสมกับการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมของประเทศไทย โดยมีรูปแบบการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ แบ่งออกเป็นคุณลักษณะพึงประสงค์ 5 มิติ 20 ด้าน 41 ตัวชี้วัด ซึ่งจะบ่งบอกว่าภาคอุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน พร้อมกับยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อมในพื้นที่
สำหรับเกณฑ์ประเมินตัวชี้วัดความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 41 ตัวชี้วัด ครอบคลุม 5 มิติ 20 ด้าน โดยระดับการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ แบ่งออกเป็น 5 ระดับ ประกอบด้วย
1. Engagement (การมีส่วนร่วม)การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการวางแผนปฏิบัติ ตรวจสอบ และปรับปรุง การดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการของการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม นิคมอุตสาหกรรม เขตประกอบการอุตสาหกรรม สวนอุตสาหกรรม ชุมชน หน่วยงานภาครัฐ เป็นต้น
2. Enhancement (การส่งเสริม)การผลักดันและส่งเสริมให้การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเรื่องสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยของพื้นที่เป้าหมายเป็นไปตามเป้าหมายของการพัฒนา ซึ่งดำเนินการโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ
3. Resource efficiency (ประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร)การใช้ทรัพยากรต่างๆ ซึ่งมีอยู่อย่างจำกัดในลักษณะที่ส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืน ในขณะที่ลดผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยลง ซึ่งเป็นการช่วยให้มีการใช้ทรัพยากรที่น้อยลง แต่ได้ผลผลิต/ผลลัพธ์ที่มากขึ้น หรือเป็นการส่งมอบคุณค่าที่มากขึ้นในขณะที่ใช้ปัจจัยป้อนเข้าที่น้อยลง
4. Symbiosis (การพึ่งพาอาศัย)การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันระหว่าง หน่วยงาน/องค์กร/คนในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง โดยปฏิสัมพันธ์นั้นก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมแก่ทุกฝ่าย
5. Happiness (เมืองน่าอยู่คู่อุตสาหกรรม) สภาวะทางจิตใจหรืออารมณ์ที่แสดงถึงการมีชีวิตที่ดี ซึ่งกำหนดโดยการมีอารมณ์ในเชิงบวก เช่น มีความยินดี พอใจ เพลิดเพลิน เป็นต้น
เกณฑ์และตัวชี้วัดการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ฉบับปรับปรุง ปี พ.ศ. 2562 ฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นแนวทางสำหรับการดำเนินงานพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของประเทศไทย ซึ่งได้ปรับปรุงเกณฑ์และตัวชี้วัดจากเกณฑ์และตัวชี้วัดการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ฉบับปรับปรุง ปี พ.ศ. 2561 มีเนื้อหาประกอบด้วย ที่มาและความสำคัญของการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ คุณลักษณะของเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของกรมโรงงานอุตสาหกรรม และตัวชี้วัดการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้ สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับตัวชี้วัดการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ที่สนใจ รวมถึงแนวทางการรวบรวมเอกสารหลักฐานตามเกณฑ์ตัวชี้วัด เพื่อการประเมินระดับความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมส่งเสริมและพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เพื่อให้การพัฒนาพื้นที่บรรลุตามเป้าหมายของการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เป็นเมืองน่าอยู่คู่อุตสาหกรรมต่อไป