วันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ที่ สายออกบัตรธนาคาร ธนาคารแห่งประเทศไทย อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ดร.โสภี สงวนดีกุล ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์และวางแผนธนบัตร. สายออกบัตรธนาคาร ธนาคารแห่งประเทศไทย พร้อมคณะ ให้การต้อนรับคณะสื่อมวลชนภาคตะวันตก จำนวน 75 คน ที่เข้าร่วมโครงการ”ธนบัตรน่ารู้สู่สื่อมวลชน” ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการผลิตนำออกใช้และบริการจัดการธนบัตรหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ตระหนักถึงความสำคัญในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนรู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมมิจฉาชีพที่จะนำธนบัตรปลอมมาหลอกใช้โดยเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับธนบัตรให้กับประชาชนทั่วทั้งประเทศผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆของธนาคารแห่งประเทศไทยรวมทั้งการจัดกิจกรรมเผยแพร่ความรู้ในพื้นที่ที่มีกระแสข่าวหรือมีสถิติการตรวจพบธนบัตรปลอมมาโดยตลอดสอบ. แนะนำวิธีสังเกตธนบัตร ให้ประชาชนได้ใช้อย่างมั่นใจ
สายออกบัตรธนาคาร (สอบ.) ธนาคารแห่งประเทศไทย มีหน้าที่ผลิตและออกใช้ธนบัตร รวมทั้งบริหารจัดการธนบัตรที่หมุนเวียนให้อยู่ในสภาพดีและเพียงพอต่อความต้องการของประชาชนและภาคธุรกิจ เพื่อรองรับกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ สอบ. ยังมีโครงการให้ความรู้เรื่องธนบัตรแก่ประชาชน นักเรียน และหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย เพื่อให้สามารถตรวจสอบและแยกแยะธนบัตรได้ ป้องกันการได้รับธนบัตรปลอม และใช้ธนบัตรได้อย่างมั่นใจ
โครงการให้ความรู้เรื่องธนบัตรจัดขึ้นหลากหลายกิจกรรมทั้งภายในและภายนอก อาทิ การเปิดให้เยี่ยมชม “นิทรรศการกิจการธนบัตร สายออกบัตรธนาคาร” เพื่อเรียนรู้ความเป็นมาของธนบัตรไทย ธนบัตรแบบต่าง ๆ ของประเทศ วิธีการสังเกตธนบัตร และจุดเด่นของที่นี่คือการได้ชมกระบวนการผลิตธนบัตรในทุกขั้นตอน นอกจากนี้ สอบ. ยังจัดการอบรมความรู้เรื่องธนบัตรให้แก่เจ้าหน้าที่ด้านการเงินของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนด้วย โดยจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ๆ ละหลายรุ่น รวมถึงการประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่ไปยังตลาดร้านค้าในชุมชม ที่ทำการกำนันผู้ใหญ่บ้าน และสถานีตำรวจด้วย
หนึ่งในความรู้เรื่องธนบัตรที่จะแนะนำประชาชนอยู่เสมอคือ การสังเกตและตรวจสอบธนบัตร ซึ่งทำได้ 3 วิธีด้วยกัน คือ การสัมผัส ยกส่อง และพลิกเอียง สัมผัสคือการจับเนื้อกระดาษธนบัตร ซึ่งจะสัมผัสได้ถึงความเหนียวและแกร่งที่แตกต่างชัดเจนจากธนบัตรปลอม ยกส่องคือการยกธนบัตรส่องกับแสงสว่างเพื่อดูลายน้ำ จะเห็นภาพแสงเงาที่มีความคมชัดในเนื้อกระดาษ และพลิกเอียงคือการดูแถบสีแนวตั้งที่ฝังในเนื้อกระดาษ จะเห็นการเปลี่ยนสีของแถบดังกล่าว และควรสังเกตมากกว่า 3 จุดขึ้นไป เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการรับธนบัตร
นอกจากนี้ หากประชาชนพลาดพลั้งรับธนบัตรปลอมไว้แล้ว ขอให้นำส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ หรือสาขาของธนาคารพาณิชย์เพื่อนำส่งต่อให้ ธปท. เพื่อทำลาย ห้ามมิให้นำไปใช้ต่อ เพราะจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี ส่วนผู้ปลอมแปลงเงินตรามีโทษสูงสุดคือจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 10-20 ปี และปรับตั้งแต่ 200,000 – 400,000 บาท
และเมื่อได้รับข่าวเกี่ยวกับธนบัตรปลอม ไม่ควรตื่นตระหนก ควรตรวจสอบข้อเท็จจริงจากหลาย ๆ แหล่ง หรือสอบถามโดยตรงได้ที่ Facebook “ธนบัตรทุกเรื่อง” หรือโทร 0-2356-8687-90 รวมถึงสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของ ธปท. www.bot.or.th หัวข้อ ธนบัตร