ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทย ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒ เน้นการพัฒนาเข้าสู่ ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ด้วยการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน ขับเคลื่อนตามแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านกลไกประชารัฐ ปฏิรูปเศรษฐกิจให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรายได้สูง โดยใช้โมเดล “ไทยแลนด์ ๔.๐” ในการนำการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ซึ่งจะต้องมีการเปลี่ยนผ่านองค์ประกอบโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่สำคัญหลายด้าน หนึ่งในองค์ประกอบดังกล่าวนั้นคือการเปลี่ยนจากแรงงานที่มีทักษะฝีมือต่ำ ไปสู่แรงงานที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และทักษะสูง กำหนดการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบใหม่ โดยการเติมเต็มวิทยาการ ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา
ดร.อินดา แตงอ่อน ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 4 กล่าวในฐานะฝ่ายประชาสัมพันธ์การประชุมวิชาการและนวัตกรรม เทคโนโลยีบัณฑิต สถาบันการอาชีวศึกษา ระดับชาติ ครั้งที่ 2 ซึ่งเตรียมจัดงาน ในวันพุธที่ ๓ เมษายน ๒๕๖๒ ณ วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี ว่า สถาบันการอาชีวศึกษา มีพันธกิจหลักในการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านวิชาชีพ ดำเนินการจัดหลักสูตรการเรียนการสอน ๓ ระดับ คือ หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง และหลักสูตรปริญญาตรีสายเทคโนโลยี หรือสายปฏิบัติการ โดยตระหนักและให้ความสำคัญ ในการพัฒนานักเรียน นักศึกษา คณาจารย์ทุกระดับชั้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ทั้งการวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ ทางวิชาการ วิชาชีพ และการวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยี โดยมุ่งหวังผลลัพธ์จากงานวิจัย องค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ ในการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษา และการประกอบอาชีพ การเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนการผลิต รวมถึงการนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยส่วนรวมได้
การจัดการประชุมวิชาการและนวัตกรรม เทคโนโลยีบัณฑิต สถาบันการอาชีวศึกษา ระดับชาติ ครั้งที่ 2 มีวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้
๑. เพื่อเป็นเวทีเผยแพร่ผลงานวิจัย และนวัตกรรมของนักศึกษาระดับปริญญาตรี สายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการ สถาบันการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
๒. เพื่อจัดพิมพ์ เผยแพร่บทความวิจัย ของนักศึกษาระดับปริญญาตรี สายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการ
๓. เพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านวิชาการของสถาบันการอาชีวศึกษาทุกแห่ง
๔. เพื่อส่งเสริม สนับสนุน การสร้างผลงานวิจัย นวัตกรรมและแลกเปลี่ยนความรู้ ทางวิชาการ ของนักศึกษาระดับปริญญาตรี สายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการ
๕. เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยและนวัตกรรม สู่สาธารณชน อันนำไปสู่การสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ และพัฒนาต่อยอดงานวิจัย
๖. เพื่อประชาสัมพันธ์ศักยภาพผลงานวิจัย และนวัตกรรมของสถาบันการอาชีวศึกษา
โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วย ผู้บริหารสถาบันการอาชีวศึกษา ผู้บริหารวิทยาลัย คณาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ และนักศึกษา มากกว่า 500 คน มีผลงานนำเสนอจากนักศึกษาระดับปริญญาตรี สายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการ จากสถาบันการอาชีวศึกษาทุกแห่ง อีกเป็นจำนวนมาก
สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ในฐานะผู้รับผิดชอบการผลิตกำลังคนด้านอาชีวศึกษาเข้าสู่ตลาดแรงงาน ทั้งใน และนอกสถานประกอบการ จึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องขับเคลื่อนกระบวนการจัดการเรียนการสอนวิชาชีพ ทั้งในสถาบันการอาชีวศึกษา สถานศึกษาอาชีวศึกษา ทุกระดับ ทุกหลักสูตร ให้ผู้สำเร็จการศึกษา มีความสามารถในการแข่งขัน ทันสมัย ทันเทคโนโลยี และวิทยาการต่างๆ ที่กำลังก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงโลกอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม การประชุมวิชาการและนวัตกรรม เทคโนโลยีบัณฑิต สถาบันการอาชีวศึกษา ระดับชาติ ครั้งที่ 2 นี้ ถือเป็นวาระสำคัญอีกครั้งหนึ่ง ในการพัฒนาอาชีวศึกษา ให้มีความก้าวหน้า ด้วยเป็นเวทีที่นักศึกษาจากสถาบันการอาชีวศึกษาทั่วประเทศ ได้นำผลงานมาแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน อันจะนำมาซึ่งการเผยแพร่ผลงานดังกล่าวออกไปในวงกว้าง ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การประชุมวิชาการและนวัตกรรม เทคโนโลยีบัณฑิต สถาบันการอาชีวศึกษา ระดับชาติ ครั้งที่ 2 นี้ จะทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่าน ได้รับองค์ความรู้จากผลงานวิจัย และแนวคิดในการสร้างนวัตกรรม ให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนการสอนอาชีวศึกษา รวมถึงแนวทางการคิดค้นสร้างสิ่งประดิษฐ์ ทั้งที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอน และการใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหา หรือพัฒนาการประกอบอาชีพสาขาต่างๆ ในอนาคตต่อไป