เครือข่ายจักรยานสร้างสุขประเทศไทย ได้รับบริจาคจักรยาน350 คันพร้อมวีลแชร์และอุปกรณ์ซ่อม จากองค์กรมิตรภาพเอเซียแห่งประเทศญี่ปุ่น ตั้งเป็นธนาคารจักรยานสร้างสุข แห่งแรกของไทย พร้อมเปิดศูนย์รักล้อแห่งที่ 11 ของประเทศ ที่วิทยาลัยสารพัดช่างบรรหารแจ่มใสสุพรรณบุรี
ทันตแพทย์อนุศักดิ์ คงมาลัย ประธานโครงการพัฒนาเครือข่ายจักรยานสร้างสุขประเทศไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2559 เปิดเผยว่า โครงการนี้จัดตั้งขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้มีและใช้จักรยานที่มีประสิทธิภาพ ถูกสุขลักษณะ-ปลอดภัย และเข้าถึงได้ง่าย ที่ผ่านมา โครงการได้สนับสนุนให้สถาบันการศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษาทั่วประเทศ โดยเฉพาะวิทยาลัยเทคนิค วิทยาลัยสารพัดช่าง วิทยาลัยเกษตรฯ และวิทยาลัยการอาชีพ ที่มีความสนใจในการจัดตั้งศูนย์รักล้อขึ้นในวิทยาลัย และใช้กลไกการเรียนการสอนฝึกฝนให้เยาวชนที่สนใจเข้ารับการฝึกอบรมการซ่อมแซมจักรยาน ที่ปัจจุบันได้รับความนิยม แต่ขาดช่างซ่อมบำรุง ทั่งในด้านเทคโนโลยีก็มีความซับซ้อนยิ่งขึ้น ทั้งระบบเกียร์ ระบบห้ามล้อ ระบบกลไกความเร็ว และระบบความปลอดภัยตามประเภทของจักรยาน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการมีและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันที่มีคุณภาพให้แพร่หลายยิ่งขึ้น ทั้งยังเอื้อไปถึงวีลแชร์ของผู้สูงอายุและผู้พิการที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
ที่ผ่านมาได้มีการจัดตั้งศูนย์รักล้อในภาคต่างๆ ไปแล้วรวม 11 แห่งและเตรียมการเปิดต่อไปอีก 5 แห่ง ตามตาราง
วิทยาลัย | ภาคกลาง | ภาคเหนือ | ภาคอีสาน | ภาคใต้ |
เทคนิค | สุพรรณบุรี 1 | ลำปาง 3 | หนองบัวลำภู 4 | หาดใหญ่ 6 |
ประจวบคีรีขันธ์ 2 | เชียงราย 8 | บ้านแพง นครพนม 5 | ชุมพร 14 | |
ชัยนาท 7 | เลย 12 | คูเมือง บุรีรัมย์ 13 | กระบี่ 16 | |
เกษตรฯ | อุดรธานี 9 | |||
การอาชีพ | ศรีสัชนาลัย สุโขทัย10 | ปราสาท สุรินทร์ 15 | ||
สารพัดช่าง | บรรหารแจ่มใสสุพรรณบุรี 11 |
ระหว่างเตรียมโครงการอีก 3 แห่งคือ วท.พิษณุโลก วท.อุตรดิตถ์ และวท.เชียงคำ พะเยา
ในราวกลางปี 2561 ที่ผ่านมา โครงการได้รับการอนุเคราะห์จากสมาคมเอเชียและองค์กรมิตรภาพเอเชียแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan Asian Association &Asian Friendship Society) โดยมี ดร.คิมิฮิโก มูรากามิ เป็นผู้อำนวยการบริหารและผู้ก่อตั้ง ด้วยการบริจาคจักรยานใช้แล้วสภาพดีจำนวน 350 คันพร้อมอุปกรณ์ซ่อมแซมและวีลแชร์ผู้พิการอีก 2 คัน เพื่อให้โครงการได้นำไปซ่อมบำรุงและแจกจ่ายให้แก่ผู้ขาดแคลนในชนบท ตามโครงการ Bike For Tomorrow ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของโครงการ จึงได้จัดตั้ง ธนาคารจักรยานสร้างสุข ขึ้นไปพร้อมกับศูนย์รักล้อ ซึ่งจะทำหน้าที่รับบริจาคจักรยานจากผู้มีจิตศรัทธา นำมาซ่อมบำรุง จัดทำทะเบียนอิเลคโทรนิคเพื่อติดตามการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และพร้อมที่จะรับคืนกลับมาซ่อมบำรุงเพื่อให้ผู้ขาดแคลนคนอื่นได้ใช้ต่อไป ทั้งนี้ ที่ผ่านมา องค์กรปกครองท้องถิ่นหลายแห่งได้ให้ความสนใจนำจักรยานเของเด็กนักเรียน และประชาชน รวมทั้งวีลแชช์ของผู้สูงอายุและผู้พิการมารับบริการเพิ่มขึ้น
ดร.สาโรช ขอจ่วนเตี๋ยว ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาช่างอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า ในฐานะที่เคยเป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสุพรรณบุรีและให้การสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์รักล้อเป็นแห่งแรกของโครงการมีความยินดียิ่งที่ได้เห็นความเติบโตของโครงการแพร่ไปยังสถาบันฯในภูมิภาคต่างๆ ที่สำคัญคือผู้บริหารให้ความสนใจและเห็นประโยชน์ในทุกด้าน และยิ่งโครงการได้ก้าวมาถึงขั้นสามารถเริ่มต้นตั้งธนาคารจักรยาน ขึ้นเป็นแห่งแรกของประเทศ ในศูนย์รักล้อแห่งที่ 11 ซึ่งตั้งในวิทยาลัยสารพัดช่างบรรหารแจ่มใสที่ตนก็เคยเป็นผู้อำนวยการมาก่อน ก็ยิ่งดีใจมาก ที่สำคัญจะเป็นโอกาสที่ดีในการมอบจักรยานเหล่านี้ให้แก่ประชาชนและเยาวชนผู้ขาดแคลนในชนบท และสามารถติดตามดูแลให้การช่วยเหลือในวันข้างหน้าได้เป็นอย่างดี
ในโอกาสเดียวกันนี้ นางรื่นฤดี สินธวาชีวะ ผู้อำนวยการวิทยาลัยสารพัดช่างบรรหารแจ่มใส สุพรรณบุรี กล่าวว่า ตนเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งแต่ก็ยินดีเป็นอย่างยิ่งในการจัดตั้งศูนย์รักล้อให้เป็นหน่วยย่อยเพื่อการฝึกอบรมอาชีพด้านจักรยานให้แก่นักศึกษาประชาชน และการให้บริการชุมชน ควบคู่ไปกับศูนย์ซ่อมสร้างของวิทยาลัยที่ได้ทำอยู่เดิม และทำเลที่ตั้งศูนย์รักล้อของวิทยาลัยฯก็อยู่ในชุมชนที่ใกล้กับโรงเรียนประจำจังหวัด ชุมชนวัดป่าเลไลยก์ ชุมชนวัดประตูสาร และรั้วใหญ่ ซึ่งจะเกิดประโยชน์ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างแน่นอน จึงขอขอบพระคุณเครือข่ายจักรยานสร้างสุขฯและทางคณะกรรมการสมาคมเอเชียและองค์กรมิตรภาพเอเชียแห่งประเทศญี่ปุ่นไว้ ณ โอกาสนี้
ดร.ประมวล วิลาจันทร์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคบ้านแพง นครพนม กล่าวว่า ศูนย์รักล้อของวิทยาลัยที่ได้รับการจัดตั้งขึ้น นอกจากได้ให้บริการแก่นักศึกษาของวิทยาลัยที่ใช้จักรยานเป็นประจำจำนวนมากแล้ว ยังได้ให้บริการแก่ชุมชนใกล้เคียงที่เป็นชุมชนท่องเที่ยวโอทอปนวัตวิถี ตามโครงการของรัฐบาล และชุมชนนี้ใกล้กับแหล่งท่องเที่ยวสำคัญคืออุทยานแห่งชาติภูลังกา ที่ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวและนักปั่นจักรยานให้ความสนใจเข้ามาท่องเที่ยวโดยการใช้จักรยานจำนวนมากขึ้น นอกจากนี้ ทางโครงการยังได้กลับไปส่งเสริมการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อเรื่องสุขนวตกรรมจักรยานสร้างสุขเมื่อปลายปีที่ผ่านมา เป็นการช่วยส่งเสริมด้านการศึกษาวิจัยของอาจารย์และนักศึกษาอีกด้วย
สำหรับพิธีการมอบจักรยานให้แก่ผู้ขาดแคลน การเปิดธนาคารจักรยานสร้างสุขแห่งแรก ร่วมกับศูนย์รักล้อแห่งที่ 11 ที่ วิทยาลัยสารพัดช่างบรรหารแจ่มใสครั้งนี้ จะมีขึ้นในวันเสาร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2562 ตั้งแต่เวลา 13.30 น.เป็นต้นไป โดยมีผู้แทนจากประเทศญี่ปุ่นเดินทางมาร่วมพิธีด้วยได้แก่ นายทากาชิ ฮาชิโมโต จากโครงการสนับสนุนจักรยาน, นางจุงโกะ โอฮารา รองประธานองค์กรมิตรภาพเอเชียแห่งประเทศญี่ปุ่น JAFS และนางโยชิโกะ โอกาโมโต เจ้าหน้าที่องค์กร JAFS
ทันตแพทย์อนุศักดิ์ คงมาลัย กล่าวในตอนท้ายว่า เป็นความชื่นชมยินดีอย่างยิ่งที่โครงการได้รับความสนับสนุนอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น และเป็นประโยชน์โดยตรงแก่เยาวชนและประชาชนที่ขาดแคลน นอกจากขณะนี้ได้มีสถานศึกษาอื่นๆติดต่อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็จะได้พิจารณาให้การสนับสนุนต่อไป ยิ่งมีโครงการธนาคารจักรยานเกิดขึ้นได้แล้ว ทางโครงการจึงจำเป็นต้องจัดทำฐานข้อมูลโดยใช้แอพพลิเคชั่นบนระบบไอทีที่มีประสิทธิภาพซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาโดยผู้เชี่ยวชาญ ให้สามารถรองรับการบริจาคและการแจกจ่ายเพื่อการนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนจักรยานทั้งหมดนี้ก็จะได้รับการซ่อมบำรุงและทยอยส่งไปยังศูนย์รักล้อแห่งอื่นๆที่ประสงค์จะตั้งธนาคารจักรยานสร้างสุขแห่งอื่นๆต่อไป