เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เปิดเผยว่า แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้รถเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในประเด็นการให้การช่วยเหลือหรือให้บริการสาธารณะในด้านต่างๆ เพื่อให้ อปท. นำไปปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ได้อย่างถูกต้อง ภายใต้ระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ว่า ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการใช้และรักษารถยนต์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2548 ได้แบ่งรถยนต์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็น 3 ประเภท คือ รถประจำตำแหน่ง รถรับรอง และรถส่วนกลาง ที่ได้นิยามคำว่า “รถส่วนกลาง” คือรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่จัดไว้เพื่อใช้งานส่วนรวมของ อปท. และรวมถึงรถยนต์ที่ใช้ในการบริการประชาชนหรือใช้ในหน้าที่ของส่วนราชการของ อปท. เช่น รถยนต์พยาบาล ประกอบกับ ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2560 ที่กำหนดว่า “การช่วยเหลือประชาชน” คือ การให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนหรือไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ในการดำรงชีพ โดยอาจให้เป็นสิ่งของ จ่ายเป็นเงิน หรือเป็นการจัดบริการสาธารณะเพื่อให้การช่วยเหลือ ตามอำนาจหน้าที่ ที่กำหนดว่า การช่วยเหลือประชาชนด้านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตนั้น ให้ทาง อปท. พิจารณาใช้จ่ายงบประมาณช่วยเหลือประชาชน ตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์โดยอนุโลม ประกอบกับระเบียบกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการว่าด้วยการสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่ง พ.ศ. 2552 ข้อ 8 ที่กำหนดว่า การดำเนินงานสงเคราะห์ครอบครัวที่ประสบความเดือดร้อน ให้สามารถช่วยเหลือด้านการเงินหรือสิ่งของเป็นวงเงินในการช่วยเหลือได้ไม่เกินครั้งละ 3,000 บาทต่อครอบครัว และให้ความช่วยเหลือติดต่อกันได้ไม่เกิน 3 ครั้งต่อครอบครัว และต่อปีงบประมาณ โดยค่ารักษาพยาบาลนั้น จะรวมถึงค่าพาหนะไว้ด้วยแล้ว
อธิบดี สถ. กล่าวว่า การจัดบริการสาธารณะของ อปท. ในการช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ว่า ในกรณีการรับส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาล อปท. อาจดำเนินการได้ตามหลักเกณฑ์ โดยผู้ป่วยที่จะได้รับการช่วยเหลือ จะต้องเป็นผู้ป่วยที่ได้ลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือจาก อปท. ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2560 แล้ว และเพื่อให้การดูแลผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือเป็นไปอย่างทั่วถึง ก็ขอให้ทาง อปท. ได้แนะนำให้ผู้ป่วยที่สมควรได้รับการช่วยเหลือไปทำการขึ้นทะเบียนตามระเบียบฯ ด้วย สำหรับการจัดบริการรับส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาล ก็ให้ อปท.พิจารณาตามความสามารถในการดูแลตนเองของผู้ป่วย โดยกรณีผู้ป่วยที่สามารถดูแลและช่วยเหลือตัวเองได้ และไม่ใช่กรณีฉุกเฉิน ให้พิจารณาใช้รถส่วนกลาง ที่ไม่ใช่รถฉุกเฉินไปให้บริการได้ โดยการใช้รถส่วนกลางนั้น ให้ถือปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการใช้และรักษารถยนต์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2548 ส่วนกรณีที่ อปท. ไม่มีรถส่วนกลาง หรือมีรถส่วนกลางแต่อยู่ในระหว่างใช้ปฏิบัติราชการ หรือรถอยู่ในสภาพที่ไม่เหมาะสมแก่การรับส่งผู้ป่วย ก็ให้ อปท. ประสานมูลนิธิหรือองค์กรอื่นๆ ที่มีรถฉุกเฉิน เพื่อให้การช่วยเหลือ หรืออาจจ้างพาหนะในพื้นที่ โดยให้ถือปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 หรืออาจให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยเป็นเงินค่าพาหนะในการเดินทางไปโรงพยาบาล ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2560 ประกอบกับระเบียบกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการว่าด้วยการสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่ง พ.ศ. 2552
และในกรณีที่เป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน ผู้ป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ผู้ป่วยติดเตียง และผู้ป่วยที่ไม่มีผู้ดูแล ให้ใช้รถฉุกเฉินในการบริการ หาก อปท. ไม่มีรถฉุกเฉิน หรือมีรถฉุกเฉินแต่ในขณะนั้น อยู่ในระหว่างรับส่งผู้ป่วยฉุกเฉิน ผู้ป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ผู้ป่วยติดเตียง และผู้ป่วยที่ไม่มีผู้ดูแลท่านอื่นอยู่ ก็ให้ อปท. ประสานมูลนิธิหรือองค์กรอื่นๆ ที่มีรถฉุกเฉิน เพื่อให้การช่วยเหลือ หรืออาจจ้างพาหนะในพื้นที่ โดยให้ถือปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 หรืออาจให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยเป็นเงินค่าพาหนะในการเดินทางไปโรงพยาบาล ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2560 ประกอบกับระเบียบกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการว่าด้วยการสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่ง พ.ศ. 2552 เช่นกัน อธิบดี สถ. กล่าว
ทวีพล/นครปฐม