ศาลจังหวัดปัตตานี พิพากษาจำคุกผู้ต้องหาคดีความมั่นคง 3 ราย
เมื่อ 4 มกราคม 2560 เวลา 09.30 น.พันเอก ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการ รักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยว่า เมื่อ 28 – 29 ธันวาคม 2560 ศาลจังหวัดปัตตานี ได้มีคำสั่งพิพากษาผู้ต้องหาคดีความมั่นคง จำนวน 3 ราย ในคดีเกี่ยวกับอั้งยี่ ซ่องโจร ก่อเหตุในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ต่างกรรมต่างวาระกัน ได้สร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐเป็นจำนวนมาก ดังนี้ ผลคำพิพากษา
1.1 คดีที่ 1 ศาลจังหวัดปัตตานีได้อ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ อ.2438/60 โดยพิพากษาจำคุก นายรูสลัน ตูหยง จำนวน 4 ปี จากการตรวจพบ DNA ในเหตุการณ์แขวนป้ายผ้าแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี เหตุเกิดเมื่อ 26 มีนาคม 2556
1.2 คดีที่ 2 ศาลจังหวัดปัตตานีได้อ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ อ.2088/60 โดยพิพากษาจำคุก นายอัครเดช สนิ จำนวน 4 ปี ในคดีอั้งยี่ ซ่องโจร เนื่องจากตรวจพบ DNA ตรงกับเอกสารที่ยึดได้ มีเนื้อหาเกี่ยวกับการก่อการร้ายและแบ่งแยกดินแดน จากการเข้าจับกุมผู้ต้องหาภายในโรงเรียนวัฒนธรรมอิสลาม ตำบลพ่อมิ่ง อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี เมื่อ 10 มีนาคม 2560
1.3 คดีที่ 3 ศาลจังหวัดปัตตานีได้อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ.2644/60 โดยพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต นายซูฟียาน สนิ ซึ่งเป็นคดีลอบยิง จากเหตุการณ์คนร้าย 7 – 8 คน พร้อมอาวุธปืนลอบยิงเจ้าหน้าที่ทหารและราษฎร บริเวณ หมู่ 3 ตลาดบ้านตาแบ๊ะ ตำบลลางา อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี เมื่อ 2 มีนาคม 2560 ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิต 3 นาย และมีประชาชนได้รับบาดเจ็บ 1 ราย โดยเจ้าหน้าที่ได้สนธิกำลังเข้าติดตามจับกุมเมื่อ 31 มีนาคม 2560
พร้อมตรวจยึดอาวุธปืนพก 2 กระบอก และซิมการ์ดโทรศัพท์ในพื้นที่อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี จากการตรวจสอบพบว่า ซิมการ์ดโทรศัพท์เป็นของทหารที่ถูกยิงในตลาดนัดบ้านตาแบ๊ะ และจากการตรวจพิสูจน์อาวุธปืนพบว่าเคยใช้ก่อเหตุยิงราษฎรในพื้นที่ตำบลปาลัส อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี และก่อเหตุยิงทหารเสียชีวิต 3 ราย จึงพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิต
2. จากการตรวจสอบพฤติกรรมของผู้ต้องหาทั้ง 3 ราย พบว่ามีหมายจับรวมกัน 6 หมาย และเคยก่อเหตุที่สร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับคำพิพากษาในครั้งนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในหลายคดี ในส่วนคดีอื่นๆ ที่เหลือ ศาลชั้นต้นได้ยกฟ้องเนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ ซึ่งพนักงานอัยการได้ยื่นขออุทธรณ์ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
3. กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ยังคงให้ความสำคัญกับการบังคับใช้กฎหมายด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอนของการปฏิบัติภายใต้หลักสิทธิมนุษยชน เพื่อนำผู้ที่กระทำความผิดมาสู่กระบวนการยุติธรรมตามขั้นตอนของกฎหมาย ทั้งนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่ต้องการยุติการใช้ความรุนแรงเข้ารายงานตัวแสดงตนตามโครงการพาคนกลับบ้าน เพื่อร่วมสร้างสันติสุข ในพื้นที่อย่างยั่งยืน โดยเจ้าหน้าที่รัฐพร้อมที่จะอำนวยความสะดวกในการเข้าสู่กระบวนยุติธรรม โดยสามารถติดต่อผ่านศูนย์ปฏิบัติการอำเภอ, ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจในพื้นที่ หรือผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง